หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิหารการโกวิท (สมศักดิ์ อุปวฑฺฒโน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง
การบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิหารการโกวิท (สมศักดิ์ อุปวฑฺฒโน) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูวิสุทธานันทคุณ
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจากพระสงฆ์ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำนวน ๑๙๐ รูป วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

             ผลการวิจัยพบว่า

             ๑. การบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๐ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านอาจารย์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๗ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านสื่อการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๒

             ๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า วุฒิการศึกษาแผนกธรรม มีผลให้ความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ไม่พบความแตกต่าง

 

             ๓. ปัญหา อุปสรรคการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พบว่า ด้านอาจารย์: บางสำนักเรียนมีอาจารย์จำนวนน้อย, อาจารย์บางรูปขาดเทคนิคและวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ, อาจารย์บางรูปทำหน้าที่สอนได้ไม่เต็มเวลา, ด้านสื่อการเรียนการสอน: สำนักเรียนบางแห่งขาดงบประมาณสนับสนุน, สำนักเรียนบางแห่งใช้หนังสือหลายมาตรฐาน, สื่อการสอนบางประเภทไม่เหมาะสมกับสภาพของห้องเรียน, ด้านวัดผลและประเมินผล: อาจารย์บางรูปขาดทักษะการวัดและประเมินผล, ขาดการประเมินผลเกี่ยวกับการนำไปประยุกต์ใช้, ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม: สถานที่เรียนบางแห่งขาดความสัปปายะ, ห้องเรียนของบางสำนักเรียนมีอากาศร้อนในเวลาช่วงบ่าย, กิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่อยู่แต่ภายในห้องเรียน และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการงานศาสนศึกษาแผนกธรรมของคณะสงฆ์อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พบว่า ด้านครูสอน : สรรหาครูสอนให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนผู้เรียน หรือจัดส่งครูสอนและผู้เรียนของแต่ละสำนักเรียนไปจัดการเรียนการสอนร่วมกันในรูปแบบของสำนักศาสนศึกษาประจำตำบล, จัดอบรมทักษะด้านเทคนิคการสอนที่ให้แก่ครูสอนพระปริยัติธรรม เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนให้สามารถกระตุ้นและเร้าความสนใจแก่ผู้เรียนได้ และการจัดให้ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมทำหน้าที่สอนเต็มตามตารางเวลา, ด้านสื่อการเรียนการสอน : การจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดซื้อ จัดหา จัดสร้าง อุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์ เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณรประจำสำนักศาสนศึกษา, กำหนดคู่มือการสอนของครูผู้สอนและแบบเรียนของผู้เรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากสำนักพิมพ์เดียวกัน และเลือกใช้สื่อการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของห้องเรียน, ด้านวัดผลและประเมินผล : การจัดอบรมทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และบูรณาการรูปแบบของการวัดและประเมินผลที่เน้นการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้จริง และด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม : จัดสถานที่สอนให้เป็นเอกเทศจากเสนาสนะอื่น, จัดเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องระบายความร้อนในห้องเรียน หรืออาจปลูกต้นไม้เพื่อบังแสงแดดที่ส่องมายังห้องเรียนในช่วงเวลาบ่าย และควรเปลี่ยนสถานที่เรียนบ้าง ในโอกาสที่สมควร เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดแก่ผู้เรียน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕