หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการจิตตวี ธีรปญฺโญ (ยอดเยี่ยม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๑ ครั้ง
การบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการจิตตวี ธีรปญฺโญ (ยอดเยี่ยม) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูวิสุทธานันทคุณ
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจาก ประชาชนผู้เข้าปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี จำนวน ๓๘๖ คน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที และค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

             ผลการวิจัยพบว่า

             ๑. การบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๓ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านสถานที่ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๑ ด้านบุคลากร อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๘ และด้านการบริหารจัดการ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๑

             ๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของประชาชน ได้แก่ เพศ และการศึกษา มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ไม่พบความแตกต่าง

             ๓. ปัญหา อุปสรรคการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี พบว่า ห้องสุขาของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดบางแห่งไม่สะอาด พัสดุและครุภัณฑ์ของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดบางแห่งอยู่ในสภาพชำรุด สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดบางแห่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชน สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดบางแห่งขาดแผนปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดบางแห่งไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี พบว่า ควรให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณห้องน้ำห้องสุขา ทั้งภายในและภายนอก, ควรประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน พัสดุ และครุภัณฑ์, ควรสนับสนุนให้พระวิปัสสนาจารย์ทุกรูปได้รับการรับรองจากทางราชการ, ควรจัดกิจกรรมอบรมโดยให้ความสำคัญกับเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก, ควรจัดทำแผนงานประจำปี และเผยแพร่สู่สาธารณชน, ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการดำเนินงาน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕