หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสำราญน้อย ถิรธมฺโม (ฟีสันเทียะ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
ศึกษาการเขียนบทสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่พุทธธรรมของพระอาจารย์สุเทพ สุเทโว ศูนย์ยุววาทศิลป์วัดพระศรีอารย์ จังหวัดราชบุรี(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสำราญน้อย ถิรธมฺโม (ฟีสันเทียะ) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  รศ. บำรุง สุขพรรณ์
  นายสมชัย ศรีนอก
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ เมษายน ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการเขียนบทสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่ พุทธธรรมของท่านพระอาจารย์สุเทพ สุเทโว ศูนย์ยุววาทศิลป์ วัดพระศรีอารย์ จังหวัดราชบุรี เพราะเล็งเห็นว่า การเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบัน พระสงฆ์ได้ใช้รูปแบบการเผยแผ่ธรรมะด้วยวิธีการเขียนมีจำนวนมากขึ้น การเขียนบทสุนทรพจน์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการเผยแผ่ที่ประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาสังคมได้ ที่พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมใช้ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ผู้รับสารเข้าใจหลัก“ศีลธรรม”ของศาสนา จนเกิดความซาบซึ้ง ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ พระนักเทศน์ทั่วไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเผยแผ่ธรรมะ เพื่อประโยชน์แก่สังคมต่อไปได้เป็นอย่างดียิ่ง
ผลการศึกษาวิจัย เรื่องศึกษาการเขียนบทสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่พุทธธรรมนั้น พบว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะการเขียนบทสุนทรพจน์นั้น เป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการเรียบเรียงหลักพุทธธรรมได้อย่างไพเราะ ลึกซึ้ง คมคาย กินใจและเป็นระบบระเบียบมีความงดงามทางภาษา เป็นนวัตกรรมทางภาษาที่สามารถ่ายทอดอรรถธรรมและอรรถรสทางภาษาได้เป็นอย่างดี จนทำให้เกิดศรัทธาปสาทะน้อมนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวัน บทธรรมะที่ได้เรียบเรียงขึ้นนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามอย่างลึกซึ้ง ความมีชีวิตชีวาของภาษาไทยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงอานุภาพแห่งพุทธธรรมที่สามารถพัฒนาคนสู่ความเป็นมนุษย์ นำความร่มเย็นและสงบสุขมาสู่สังคมได้สืบไป
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาค้นคว้า โดยทำการวิจัยเชิงเอกสารที่เป็นผลงานการเขียนบทสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่พุทธธรรม
จากการศึกษาวิจัย พบว่า แนวคิดและหลักเกณฑ์ที่สาคัญในการเขียนเพื่อการสื่อสาร การเขียนเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ทัศนคติ และอารมณ์ ด้วยลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในสาร เป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนที่มีอยู่ในใจ สื่อความเข้าใจด้วยถ้อยคำให้ผู้อื่นรับรู้ ให้รู้ความหมายอันแท้จริง
วิธีการเขียนบทสุนทรพจน์ที่สำคัญ คือ การเรียบเรียงถ้อยคำ ต้องมีความพิถีพิถัน ในการใช้คำ การสร้างประโยค ให้มีความสอดคล้องในเนื้อหาของหลักธรรม ให้มีความไพเราะ งดงามทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำได้อย่างไพเราะ สละสลวย ลึกซึ้ง กินใจ เป็นการสร้างความประทับแก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี สำหรับรูปแบบ การเขียนบทสุนทรพจน์เป็นการเขียนที่เป็นแบบแผน ในลักษณะของการชักนำโดยการปลูกศรัทธา และชักนำโดยใช้เหตุผล ซึ่งประกอบด้วยลักษณะของการเขียนที่ดี คือ มีเอกภาพ สารัตถภาพ สัมพันธภาพ มีความกระจ่างแจ้ง มีแง่มุมคงที่ มีความน่าสนใจติดตาม
หลักการเขียนบทสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่นั้น มีหลักสูตรโครงสร้างการเขียน ๔ วิธี คือ วิธีวิเคราะห์เรื่อง, วิธีสังเคราะห์เรื่อง, วิธีสานเรื่อง และวิธีการสร้างความคิดจินตนาการ สำหรับหัวใจของการเขียนบทสุนทรพจน์ ได้แก่ หลักการเขียนขึ้นต้นที่ดี คือ นำเรื่องต้องให้จูงใจ ประกอบด้วยพาดหัวข่าว, กล่าวคำถาม, ความสงสัย, ให้รื่นเริง, เชิงกวี, วจีสุภาษิต, หลักการเขียนเนื้อเรื่องที่ดี คือ ต้องให้เข้าใจ ประกอบด้วยเรียงลำดับ, จับประเด็น, เน้นสำคัญ, บีบคั้นอารมณ์, เหมาะสมเวลา, หลักการสรุปเรื่องที่ดี คือ ต้องให้จับใจ ประกอบด้วย ตามคำคม, คารมปาก, ฝากให้คิด, สะกิดชักชวน, สำนวนขบขัน
พระสงฆ์มีบทบาทหน้าที่ในการแนะนำ อธิบายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมและหลักการเขียนต่าง ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พระสงฆ์ควรนำการเขียนบทสุนทรพจน์มาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเผยแผ่ และเลือกรูปแบบโดยไม่จำกัดรูปแบบให้มีพลัง เพื่อประยุกต์การเขียนเข้ากับการเทศน์ ปาฐกถา การบรรยาย เป็นต้น
บทสุนทรพจน์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ได้แก่ การพัฒนาสังคม เป็นแกนนำ และกำกับชีวิตและสังคม มีผล คือ นำไปปฏิบัติก่อให้เกิดประโยชน์สุขในสังคม เป็นแนวทาง ในการปฏิบัติทำให้ชีวิตดีขึ้น สังคมมีจิตสำนึก กระตุ้นความรู้สึก ทำให้เกิดความซาบซึ้งในอรรถธรรมและอรรถรสทางภาษา และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยม
จึงพอสรุปได้ว่า การเขียนบทสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่พุทธธรรมนั้น พระสงฆ์ ผู้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หากมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการเขียน และรูปแบบโครงสร้างการเขียนบทสุนทรพจน์แล้ว ก็จะทำให้สามารถเผยแผ่หลักพุทธธรรม เข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เพราะบทสุนทรพจน์มีความงดงามทางภาษา มีความไพเราะ ลึกซึ้ง กินใจ เป็นข้อคิดเตือนใจให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี จึงถือได้ว่าบทสุนทรพจน์ที่เป็นบทธรรมะนั้น สามารถถ่ายทอดหลักคำสอนของพระพุทธองค์ได้เป็นอย่างดี เป็น “มรดกธรรม มรดกทางปัญญา” ที่พุทธศาสนิกชนจักได้รับรสแห่งอรรถธรรมและอรรถรสทางภาษาซึ่งประมาณค่าไม่ได้
ทั้งนี้ยังมีส่วนอื่นที่สำคัญ ที่มีผลต่อการเผยแผ่หลักพุทธธรรม นอกเหนือไปจากที่ได้ศึกษามาแล้ว อาทิเช่น ควรศึกษารูปแบบการพูดสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่หลักพุทธธรรม ของท่านพระอาจารย์สุเทพ สุเทโว ศูนย์ยุววาทศิลป์ วัดพระศรีอารย์ จังหวัดราชบุรี, ศึกษาเปรียบเทียบการเขียนกับการพูดสุนทรพจน์เพื่อใช้ในการเผยแผ่หลักพุทธธรรม ว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่างกันอย่างไร, ควรศึกษารูปแบบการจัดอบรมเยาวชนในโครงการ “ยุววาทศิลป์สัมพันธ์” ของศูนย์ยุววาทศิลป์ วัดพระศรีอารย์ จังหวัดราชบุรี, ควรศึกษาอิทธิผลของบทสุนทรพจน์ที่มีผลต่อสังคมในยุคปัจจุบัน และศึกษาการแปลบทสุนทรพจน์ภาคธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ.
Download :  254952.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕