การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (๒) เปรียบเทียบความเห็นที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจากนักเรียนในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๒๗๘ คน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที และค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๙ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านการเป็นตัวแบบทางจริยธรรม พบว่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๗ ด้านการเป็นผู้อบรมสั่งสอน พบว่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๔ ด้านการเป็นผู้เตือนสติ พบว่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๒ ด้านการเป็นผู้ปลูกฝังคุณธรรม พบว่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๑ และด้านการเป็นผู้สร้างจิตสำนึกต่อสังคม พบว่า อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๔
๒. เปรียบเทียบความเห็นที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของนักเรียน ได้แก่ เพศ อายุ ระดับชั้นเรียน และผลการเรียน มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเด็กและเยาวชนของพระสงฆ์ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พบว่า ด้านการเป็นตัวแบบทางจริยธรรม ; ควรให้บุคคลอื่นเป็นผู้กระทำภารกิจแทน ในส่วนที่ต้องไปในสถานที่อโคจร และควรจะชี้แจงให้เยาวชนรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของพระสงฆ์ในสื่อต่าง ๆ ว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคลไม่ใช่การกระทำของพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่, ด้านการเป็นผู้อบรมสั่งสอน ; ควรปรับปรุงรูปแบบและวิธีการสอนเพื่อให้เหมาะกับวัยและสร้างความสนใจแก่เยาวชน และควรสร้างช่องทางอื่นสำหรับขยายโอกาสในการจัดการสอนที่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลา ด้านการเป็นผู้เตือนสติ ; ควรประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง เพื่อให้การเตือนสติแก่เยาวชนในลักษณะของการป้องกันปัญหา และสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรมของเยาวชน โดยใช้ความร่วมมือจากกลุ่มเยาวชนเอง และควรใช้รูปแบบของการชักชวนให้ปฏิบัติ มากกว่าการออกคำสั่งให้ปฏิบัติ, ด้านการเป็นผู้ปลูกฝังคุณธรรม ; ควรสร้างเครือข่ายในการทำงานระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนอย่างเป็นระบบ และควรจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมเยาวชนในทุกระดับชั้นเรียน และด้านการเป็นผู้สร้างจิตสำนึกต่อสังคม ; ควรสนับสนุนการจัดกิจกรรมบริการสังคมในลักษณะจิตอาสาเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกต่อสังคม และควรสร้างเครือข่ายกับภาคประชาสังคมโดยจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาอื่น
Download
|