หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมนเฑียร จนฺทสาโร (ชะอุ่ม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๒ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบการบริหารความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาเถรวาท กับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ชื่อผู้วิจัย : พระมนเฑียร จนฺทสาโร (ชะอุ่ม) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีรัตโนบล (สุริโย อุตฺตมเมธี)
  พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมฺโม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาการบริหารความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒)  เพื่อศึกษาการบริหารความขัดแย้งในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  และ ๓) เพื่อเปรียบเทียบการบริหารความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในการศึกษานี้ เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงเอกสาร ผลการศึกษาพบว่า

พระพุทธศาสนาเถรวาท มีทัศนะว่า การบริหารความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการจัดการความขัดแย้ง มี ๒ ระดับ คือ    ๑) เป้าหมายระดับบุคคล ต้องอาศัยหลักธรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพของจิตในระดับของตัวบุคคล ได้แก่ อัปปมาทธรรม ไตรลักษณ์ ขันติธรรม พรหมวิหารธรรม อคติ ๔ และ กรรม ๒) เป้าหมายระดับสังคม ต้องอาศัยหลักธรรมที่ก่อให้เกิดผลในทางบวกทั้งต่อกลุ่มบุคคล องค์กร สังคม และประเทศชาติ ได้แก่ สามัคคีธรรม อปริยหานิยธรรม สาราณียธรรม สังคหวัตถุธรรม หลักศีลธรรม

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาแห่งความรัก มีทัศนะว่า การบริหารความขัดแย้งก็คือการหาวิธีการที่จะระงับความขัดขืนต่อกฎกติกาทางธรรมชาติและสังคมที่ปรากฏทางด้านจิตใจของบุคคล โดยมีเป้าหมายเพื่อสลายความขัดแย้งนั้นให้หมดไป แล้วนำมาซึ่งสันติสุขทั้งทางด้านจิตใจและสังคมอย่างถาวรนั่นเอง โดยมีอยู่ ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบเชิงรับ เป็นการสมยอมตามหลักแห่งขันติธรรม และรูปแบบเชิงรุก ด้วยหลักของการสงเคราะห์ ทั้งนี้ต้องอาศัยวิธีการบริหารความขัดแย้ง ๓ วิธี  คือ  ๑) การบริหารความขัดแย้งในแง่ความรัก โดยอาศัยวิธีการชำระใจ ศีลล้างบาป และการภาวนา ๒) การบริหารความขัดแย้งในแง่ความเสียสละ เป็นวิธีขจัดความโลภที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ก่อให้เกิดผลดีทั้งแก่ตนเองและสังคม และ ๓) การบริหารความขัดแย้งด้วยการขันติธรรม มีเป้าประสงค์เพื่อระงับความโกรธคือลดอารมณ์โกรธ และการตอบสนองต่อความโกรธทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การบริหารความขัดแย้งในทัศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาทและศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คือการหาแนวทางในการสร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนทั้งแก่สังคมโดยรวมและชีวิตของปัจเจกบุคคล ส่วนที่ต่างกันคือเป้าหมายสูงสุดของการบริหารความขัดแย้ง โดยพระพุทธศาสนาเถรวาทมุ่งถึงความสงบแบบบริสุทธิ์คือพระนิพพาน ส่วนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมุ่งสู่ชีวิตนิรันดรหลังสิ้นชีพ

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕