การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาหลักอนุพรต ๕ ในศาสนาเชน ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับหลักอนุพรต ๕ ในศาสนาเชน โดยเป็นการศึกษาในเชิงเอกสารจากคัมภีร์ทางศาสนา ตำรา เอกสาร งานวิจัยต่าง ๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบ
ผลการวิจัย พบว่า
หลักศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ใช้ชีวิตครองเรือนประจำสังคมของมนุษย์ เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ๑) เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒) เว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔) เว้นจากการพูดเท็จ ๕) เว้นจากสุราเมรัยและของมึนเมาอันเป็นเหตุให้ประมาท เป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานในระดับโลกิยะทำให้โลกสงบสุข โลกก็จะสงบร่มเย็น คนในสังคมจะมีความสงบสุข
หลักอนุพรต ๕ ในศาสนาเชน เป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ใช้ชีวิตครองเรือน ที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เพื่อควบคุมความประพฤติของมนุษย์ให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องดีงาม ประกอบด้วย ๑) การไม่เบียดเบียน ๒) การไม่พูดเท็จ ๓) การไม่ลักขโมย ๔) การไม่ประพฤติผิดทางกาม ๕) ความไม่ละโมบโลภมาก เป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานในระดับโลกิยะที่จะทำให้มนุษย์ด้วยกันเองรวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความสงบสุขในปัจจุบันได้
ความเหมือน ศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับอนุพรต ๕ ในศาสนาเชน มีนัยที่เหมือนกัน คือ เป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับฆราวาส เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม
ความแตกต่าง ศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นกติกาข้อห้ามที่ใช้แก้ ๕ ปัญหาหลัก ทำให้สังคมสงบเรียบร้อยเป็นสังคมปกติ เพราะทำให้มีความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัวและมีความไว้วางใจกันและกัน ปิดทางไปสู่ทุคติหรืออบายภูมิ มีข้อปฏิบัติที่แตกต่าง คือ เว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา ส่วนอนุพรต ๕ ในศาสนาเชน มีข้อปฏิบัติที่แตกต่าง คือ ความไม่ละโมบโลภมาก มีอหิงสธรรม การไม่เบียดเบียน เป็นยอดแห่งศีลธรรมในศาสนาเชน อนุพรต ๕ บางทีเรียกว่า ปฏิญญา ๕ ประการ เป็นข้อวัตรขนาดเล็กน้อยคู่กับมหาพรต ข้อวัตรอันยิ่งใหญ่ มหาพรต (เป็นข้อปฏิบัติสำหรับนักบวช) ส่วนอนุพรต (เป็นข้อปฏิบัติสำหรับชาวบ้านทั่วไป) รายละเอียดของข้อธรรมเป็นอย่างเดียวกัน ต่างแต่ระดับของความถือเคร่ง กล่าวคืออนุพรตจะเคร่งครัดน้อยกว่ามหาพรต
Download |