วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักสติปัฏฐาน ๔ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการปฏิบัติธรรมของชุมชน ตำบลโนนสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ และ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ ในการปฏิบัติธรรมของชุมชนตำบลโนนสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ผลจากการวิจัยพบว่า
หลักสติปัฏฐาน ๔ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท โดยได้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับหลักสติปัฏฐาน ๔ ถึงความหมายของไตรสิกขาในพระไตรปิฎก และตามทรรศนะของนักวิชาการทั่วไป สติปัฏฐาน หมายถึง สติที่ตั้งมั่น, การหมั่นระลึก, การมีสัมมาสติระลึกรู้นั้นพ้นจากการคิดโดยตั้งใจ แต่เกิดจากจิตจำสภาวะได้ แล้วระลึกรู้โดยอัตโนมัติ โดยคำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ส่วนปัฏฐาน หมายถึง ความตั้งมั่น, ความแน่วแน่, ความมุ่งมั่น ความสำคัญของหลักสติปัฏฐาน ๔ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท การเกิดขึ้น ความสำคัญ ลักษณะ ประโยชน์ และอานิสงส์ของสติปัฏฐาน
สภาพปัญหาของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมความเป็นอยู่ ครอบครัว เศรษฐกิจรายได้และวิถีชีวิต อาชีพ ไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนในชุมชนละการปฏิบัติธรรม ยิ่งทำให้ประชาชนหันมาสนใจในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อประชาชนปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องย่อมได้รับอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมคือ มีวินัยในตัวเอง รู้จักระวังตัว รู้จักควบคุมตัวได้ รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กจะไม่เถียงผู้ใหญ่ มีกิจนิสัย คือ ขยันไม่จับจด รักงาน สู้งาน ประหยัด รู้จักใช้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างถูกต้องและคุ้มค่า พัฒนา รู้จักพัฒนาตัวเอง และอาชีพให้ดีขึ้น สามัคคี รักครอบครัว รักหมู่คณะ และรักประเทศชาติ มีลักษณะนิสัย มีสัมมาคารวะ อุตสาหพยายาม ปฏิบัติตามระเบียบวินัย รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ วางตัวได้เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มีความรู้คู่คุณธรรม คือ รู้จักคิด รู้จักปรับตัว รู้จักแก้ปัญหา มีทักษะในการทำงานและค่านิยมที่ดีงามในอนาคต เจ้านายทิ้งลูกน้องไม่ได้ ลูกน้องทิ้งเจ้านายไม่ได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเสมอกันจะได้อุปถัมภ์ค้ำจุนต่อไป
การประยุกต์ใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ ในการปฏิบัติธรรมของชุมชนตำบลโนนสว่าง ผู้ปฏิบัติธรรมมีสภาวธรรมในการปฏิบัติธรรม ที่แยกออกถึงรูปธรรม นามธรรมที่เกิดขึ้น คือ จิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม จิตอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือจิตเห็นกายหรือจิต หรือจิตเห็นรูปหรือนาม หมายถึง การมีสติระลึกรู้เท่าทันตามความเป็นจริง รวมทั้งการพิจารณาให้เห็นความจริงใน กาย เวทนา จิต หรือธรรม อันเป็นหลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ และส่งผลที่ดีต่อชุมชน คือ ทั้งในด้านของความเป็นอยู่สุขภาพกายของชุมชน สภาวะทางสังคมของชุมชน สุขภาพจิตใจของชุมชน วิถีชีวิตของชุมชน และความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนตำบลโนนสว่างกับวัด ทำให้ชุมชนมีสภาวะทางสังคมที่ดี ส่งผลต่อการทำงานดำรงชีพ ตลอดจนมีสุขภาวะทางกายและจิตที่สมบูรณ์
Download
|