หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุจิณเจติยานุการ (สุทฺธาจาโร/เดชสอน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๕ ครั้ง
วิเคราะห์จริยธรรมของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยววัดพระธาตุผาเงา ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุจิณเจติยานุการ (สุทฺธาจาโร/เดชสอน) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วันชัย พลเมืองดี
  สุเทพ สารบรรณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

 

การวิจัย เรื่อง วิเคราะห์จริยธรรมของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยววัดพระธาตุผาเงา ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาจริยธรรมส่งเสริมการท่องเที่ยววัดพระธาตุผาเงา และ ๒) เพื่อวิเคราะห์จริยธรรมของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยววัดพระธาตุผาเงา

             วิธีการวิจัย เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นการศึกษาจากวิจัย เอกสาร รายงาน การวิจัยที่เกี่ยวข้อง และมีการสัมภาษณ์ประกอบ เป็นการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured interview)  ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)  โดยอาศัยแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งเป็นลักษณะของคำถามแบบปลายเปิด                        (Open-ended Question) รวมทั้งการสนทนากลุ่ม (Focus Group)

 

 

 

            กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ๑) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน ๓๐ รูป/คน แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ผู้นำชุมชน และเจ้าอาวาส จำนวน ๕ รูป/คน กลุ่มที่ ๒ หน่วยงานราชการ จำนวน ๕ คน กลุ่มที่ ๓ นักท่องเที่ยว จำนวน ๑๕ คน กลุ่มที่ ๔                             ผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้า และชุมชน จำนวน ๕ คน และ ๒) ผู้ให้ข้อมูลสนทนากลุ่ม                (Focus Group) โดยใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purpose Sampling) จำนวน ๒๐ คน

 

            ผลการวิจัย พบว่า ๑) จริยธรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของวัดพระธาตุผาเงา มีดังนี้ จริยธรรมหลัก เป็นพุทธจริยธรรม ประกอบด้วย หลักปฏิสันถาร ๒ (หลักธรรมสำหรับการต้อนรับ), อิทธิบาท ๔ (ทางแห่งความสำเร็จ) และสาราณียธรรม ๖ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน)             รวมทั้งวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ตามพระวินัย) ที่นำมาปรับใช้ในการท่องเที่ยว ได้แก่                         อาคันตุกวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยว), อาวาสิกวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของ             ที่พัก หรือผู้ให้บริการท่องเที่ยว), คมิกวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะออกจากแหล่งท่องเที่ยว), เสนาสนวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับการใช้สอยเสนาสนะ หรือใช้สิ่งของส่วนรวม), วัจจกุฎีวัตร (ข้อปฏิบัติสำหรับการใช้ห้องน้ำของนักท่องเที่ยว)และจริยธรรมทั่วไปที่ทุกคนพึงมี ได้แก่ ความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เอาเปรียบ และมีความรับผิดชอบ ๒) จริยธรรมของชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยววัดพระธาตุผาเงา พบว่า คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน/ คิดริเริ่ม หรือตัดสินใจ พูดคุย เสนอความคิดเห็น หาข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับทางวัดเสมอ, การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ/ร่วมกิจกรรม ประเพณีต่างๆ ที่ทางวัดจัด ได้รับหน้าที่ในด้านการบริการอาหาร(โรงทาน) รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนใกล้เคียงได้รับทราบ, การมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์ คือ คนชุมชน ได้นำสินค้า ผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้ตามฤดูกาลมาวางจำหน่ายในวัด เพื่อให้คนในชุมชนได้มีอาชีพมีรายได้ และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล/ติดตามผล หรือตรวจสอบ                   คือ คนในชุมชนได้มาร่วมกันทำความสะอาดถนน ลานวัด หรือเข้าร่วมบูรณะซ่อมแซม และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ติดตามประสานงานในส่วนราชการ                  หรือองค์กรต่างๆ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการร้านค้า พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี และคนในชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุผาเงามีจริยธรรมในใจ มีความตระหนักในหน้าที่ มีความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีเมตตา มีน้ำใจ มีความเป็นมิตรไมตรี ซึ่งจริยธรรมเหล่านี้  บุคลากรทุกฝ่ายในวัดและชุมชน ได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแผนกต่างๆ ของวัด                มีความเป็นมิตรไมตรี แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี วางตัวเหมาะสมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวภายในวัดด้วยความเต็มใจ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ทางวัดมีป้ายนิเทศแนะนำห้องสุขา สถานที่ท่องเที่ยว และข้อปฏิบัติที่ชัดเจน ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ ตามราคาที่ติดป้ายไว้เหมาะสมกับคุณภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่ยั่งยืนต่อไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕