วิทยานิพนธ์นี้ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาความอาฆาตตามหลักพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาประวัติและความอาฆาตของนางมาคันทิยา ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความอาฆาตของพระนางมาคันทิยาตามหลักพระพุทธศาสนา ความอาฆาต ตามหลักพระพุทธศาสนาคือ ธรรมชาติที่ประทุษร้ายในอารมณ์ถึงขั้นเอาชีวิต เกิดมามาจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ บุคคลผู้มีโทสะมาก จึงทำให้กระทำอกุศลกรรมมากด้วย กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต และเป็นคนมักโกรธเป็นมูลเหตุนำไปสู่ความอาฆาต
พระนางมาคันทิยาเป็นธิดาของมาคันทิยพราหมณ์แห่งแคว้นกุรุ เป็นผู้มีสิริโฉมที่งดงามและเป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าอุเทน ซึ่งรองลงมาจากพระมเหสีเอก คือ พระนางสามาวดีครั้งหนึ่งพราหมณ์ผู้เป็นพ่อเคยได้มอบธิดาของตนให้แก่พระพุทธองค์ เนื่องจากได้เห็นพระสิริโฉมของพระพุทธองค์แล้วเกิดความพึงพอใจ แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุนี้นางจึงได้ผูกอาฆาตพระพุทธองค์ไว้แต่เนื่องจากทำอะไรพระพุทธองค์ไม่ได้จึงหันไปทำร้ายพระนางสามาวดีพร้อมบริวารแทนด้วยอำนาจของโทสะจึงทำให้จิตใจนางเปลี่ยนไปมูลเหตุแห่งความอาฆาตของนางมี ๒ ปัจจัย คือ ปัจจัยภายในเกิดจากจริต เนื่องจากนางมีราคจริต โทสจริต โมหจริต และวิตกจริต เป็นพื้นเพอุปนิสัยสนับสนุนให้เกิดความอาฆาต นางเป็นคนหยิ่งยโส มักผูกโกรธไว้ จึงเป็นเหตุให้ทำร้ายผู้ที่ขัดใจตน ส่วนปัจจัยภายนอก เกิดจากการอุปการะเลี้ยงดู เกิดพุทธดำรัสอันเป็นเหตุให้พระนางมาคันทิยาผูกความอาฆาตในพระพุทธองค์ และสภาพแวดล้อมเอื้อให้เกิดความอาฆาต
ผลกระทบของความอาฆาตของพระนางมาคันทิยา เนื่องจากพระนางมาคันทิยา เป็นคนมักโกรธมีจิตใจโหดเหี้ยม จึงสนับสนุนทำให้เกิดความอาฆาต ส่งผลกระทบต่อตนเอง ทำให้กายใจเร่าร้อนอยู่ไม่เป็นสุข ปิดกั้นบุญกุศลต่างๆ เสื่อมจากลาภญาติบริวาร ได้รับแต่คำสาปแช่ง มีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า กระทบผู้อื่นทำให้พระนางสามาวดีบริวาร และญาติๆ ต้องสิ้นชีพในกองเพลิงกระทบต่อสังคมทำให้ได้รับการแตกตื่นตกใจกลัวภัยจะมาถึงตัวและกระทบพระพุทธศาสนา ทำให้พระอานนท์ท้อใจทูลพระพุทธองค์ให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองอื่น จึงทำให้ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญในการ อุปัฏฐากพระพุทธศาสนามีพระนางสามาวดีและบริวารไป
Download |