วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความหมายและประเภทของกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาความหมายและประเภทของกุศลกรรมบถในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๓) เพื่อวิเคราะห์กุศลกรรมบถเพื่อพัฒนาชีวิต โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้านเอกสาร คือ การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า กรรมในพระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นกรรม ๒ ประเภท กรรม ๓ ประเภท และกรรม ๔ ประเภท ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้จำแนกกรรมออกเป็น ๓ หมวด ๑๒ ชนิด ได้แก่ กรรมแบ่งตามระยะเวลาการให้ผล กรรมแบ่งตามลำดับการให้ผลก่อนหลัง กรรมแบ่งตามการทำหน้าที่ของกรรม ในคัมภีร์อรรถกถา ได้แบ่งกรรมออกเป็น ๑๑ ชนิด เหมือนกันกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ไม่มี อโหสิกรรม ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกกรรมเหมือนกันกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ได้เพิ่มกรรมแบ่งโดยภพภูมิที่ให้ผลมี ๔ ประเภท คือ อกุศลกรรม, กามาวจากุศลกรรม, รูปาวจรกุศลกรรม และ อรูปาวจรกุศลกรรม กุศลกรรมบถ มีความหมายว่า ทางแห่งความดีที่นำสัตว์ไปสู่สุคติมี ๑๐ ข้อ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ กุศลกรรมบถทางกาย กุศลกรรมบถทางวาจา กุศลกรรมบถทางใจ กุศลกรรมบถ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความประพฤติดีทาง กาย วาจา และ ใจ กุศลกรรมบถเพื่อพัฒนาชีวิต คือทางที่ดีหรือเป็นแนวทางปฏิบัติทางกาย ทางวาจา และ ทางใจที่ดี แนวทางปฏิบัติทางกายที่ดีคือ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นประจำ โดยหลักธรรมที่สนับสนุน คือ เมตตากรุณา การบริจาคทาน และ สทารสันโดษ แนวทางปฏิบัติทางวาจาที่ดี คือ การไม่พูดเท็จ การไม่พูดส่อเสียด การไม่พูดคำหยาบ การไม่พูดเพ้อเจ้อ เป็นประจำ โดยหลักธรรมที่สนับสนุน คือการพูดแต่คำจริง การพูดเพื่อสมานสามัคคี การพูดด้วยวาจาไพเราะ การพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แนวทางปฏิบัติทางใจที่ดี คือ ความไม่โลภ ความไม่พยาบาทปองร้าย ความไม่เห็นผิด โดยปฏิบัติเป็นประจำธรรมะที่สนับสนุนคือ สัมมาสติ สัมมาสังกัปปะ สัมมาทิฏฐิ
Download |