งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑) แนวคิดการบริหารงานและหลักสังคหวัตถุ ๔ ในพระพุทธศาสนา ๒) การบริหารงานของเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนอนุบาลหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และ ๓) แนวทางการประยุกต์หลักสังคหวัตถุ ๔ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานธุรการโรงเรียนอนุบาลหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า การบริหารงานธุรการเป็นงานแรกที่รับเอกสารเข้ามาในองค์กรและเป็นงานที่ส่งเอกสารออกจากองค์กร ซึ่งหากองค์กรมีบุคลากรที่มีความชำนาญทางด้านงานธุรการเป็นอย่างดี บทบาทและหน้าที่ของงานธุรการเป็นฝ่ายสนับสนุนเป็นสายงานที่เป็นเหมือนคนกลางที่จะคอยที่ขับเคลื่อนให้งานได้ดำเนินอย่างสะดวก เช่น การให้บริการ การติดต่อประสานงาน การจัดหา เพื่อนำมาซึ่งความสะดวกของหน่วยงานอื่นในองค์กร
สังคหวัตถุ ๔ คือ หลักคุณธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของบุคคลและประสานหมู่ชนไว้ในความสามัคคี จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคนไว้ได้ ก่อให้เกิดความเคารพ ความรัก ความนับถือต่อกันและกัน เป็นเหมือนพาหนะที่จะนำพาคนไปสู่ความสุขความเจริญที่ต้องการได้ เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางใจ ภายในจากครอบครัวเป็นต้นไปจนถึงสังคม
แนวทางการประยุกต์หลักสังคหวัตถุ ๔ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานธุรการโรงเรียนอนุบาลหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ได้แก่ ๑) ทาน คือ การเกื้อกูลกันด้วยการให้ การเสียสละ หรือ การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ดังนั้น การเสียสละ ความเป็นคนใจกว้างรู้จักเสียสละ เผื่อแผ่ เห็นใจคนอื่น ๒) ปิยวาจา คือ ใช้วาจาประสานไมตรี หมายถึง การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคาย ก้าวร้าวพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับกาลเทศะ ๓) อัตถจริยา สรุปได้ อัตถจริยา คือ การร่วมสร้างสรรค์อุดมการณ์ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือ การปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ดังนั้นในการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารควรปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ในการรักษาระเบียบวินัย และให้ความเสมอภาคต่อผู้ใต้บังคับบัญชา มีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อมีปัญหา มีน้ำใจ ไม่วางเฉย และ ๔) สมานัตตตา การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย ดังนั้นในการบริหารงานบุคคล ควรทำตนเสมอต้นเสมอปลายกับทุกคน สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขกับบุคลากรทุกคนได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการวางแผนงานต่างๆ เสนอข้อคิดเห็น และรับฟัง และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตน
Download |