วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะ ของชาวไทขืน ในเมืองเชียงตุง (๒) เพื่อศึกษาสำนวนและทำนองของการเทศน์ธัมม์เวสสันตรชาตกะ ของชาวไทขืน ในเมืองเชียงตุง (๓) เพื่อศึกษาคุณค่าของการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะ ของชาวไทขืน ในเมืองเชียงตุง ผลการศึกษาพบว่า การตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะไม่ปรากกฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใดแต่สันนิษฐานได้ว่าเริ่มตั้งแต่สมัยพญาผายูได้บัญชาให้เจ้าเจ็ดพันตูราชบุตรมาปกครองเมืองเชียงตุงและส่งพระเถระไปด้วยในปี พ.ศ. ๑๘๘๒ และพบหลักฐานจดบันทึกของคัมภีร์ธัมม์เวสสันตรชาตกะถูกแต่งขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๕-๒๓๗๑ โดยเจ้าฟ้ามหาขนาน เจ้าฟ้าผู้ปกครองเมืองเชียงตุง มีการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะอย่างยิ่งใหญ่และถวายคัมภีร์ธัมม์มหาชาติ ๑๑๐ ชุด ในด้านสำนวนและทำนอง สำนวนแบ่งเป็น ๒ สำนวน คือสำนวนร้อยแก้วและสำนวนร้อยกรอง สำนวนร้อยแก้วมีลักษณะเป็นความเรียงธรรมดา สำนวนร้อยกรองจะแต่งเป็นฉันทลักษณ์มีสัมผัสนอกและสัมผัสในอย่างสวยงาม ส่วนทำนองของการเทศน์มีอยู่ ๒ วิธี คือเทศน์แบบธรรมวัตรและทำนองมหาชาติ ทำนองเทศน์แบบธรรมวัตรจะใช้ภิกษุหลายๆรูปสวดพร้อมๆกัน ส่วนทำนองเทศน์มหาชาติ จะมีจังหวะการพัก ยั้ง มีวรรค ตอน ตามลมหายใจผู้เทศนา ในด้านคุณค่าของการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะ นักปราชญ์ผู้แต่งมหาชาติในเชียงตุงได้นำเอาหลักธรรมสอดแทรกในเนื้อธรรมมหาชาติมีการผสมผสานเชื่อมโยงกับสภาพวิถีชีวิต จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทขืนในเมืองเชียงตุงได้อย่างกลมกลืน จึงเกิดคุณค่ามากมายในการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะ ของชาวไทขืน ในเมืองเชียงตุง
Download