วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบคำสอนเรื่องอนุสสติกัมมัฏฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกับคัมภีร์กัมมัฏฐานรอม” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ๑) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องอนุสสติกัมมัฏฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ๒) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องอนุสสติกัมมัฏฐานในคัมภีร์เรื่องกัมมัฏฐานรอม และ ๓) เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบคำสอนเรื่องอนุสสติในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์กัมมัฏฐานรอม
วิจัยนี้ผู้วิจัยทำการศึกษาอนุสสติในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์กัมมัฏฐานรอม ฉบับวัดต้นผึ้ง แล้วนำมาเปรียบเทียบในประเด็นต่างๆ เช่น ความแตกต่าง แนวคิด วิธีการปฏิบัติ และขั้นตอนของการปฏิบัติอนุสสติกัมมัฏฐาน
ผลการศึกษาพบว่า อนุสสติ หมายถึง การตามระลึกอยู่เนืองๆ เป็นกัมมัฏฐานหมวดหนึ่งในกัมมัฏฐาน ๔๐ อนุสสติทั้ง ๑๐ ประการมีกำลังสมาธิไม่เสมอกัน ให้ผลได้ตั้งแต่อุปาจารสมาธิจนถึงฌาน ๔ คัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์กัมมัฏฐานรอม ฉบับวัดต้นผึ้ง ได้กล่าวถึงอนุสสติ ๑๐ ประการเหมือนกัน คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุส สติ กายคตสติ อานาปานสติ และอุปสมานุสสติ
เมื่อเปรียบเทียบคำสอนเรื่องอนุสสติพบว่า ทั้งสองคัมภีร์มีการอธิบายในอนุสสติที่คล้ายคลึงกัน แต่มีการเรียงลำดับข้อที่แตกต่างกัน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายถึงพุทธานุสสติเป็นข้อแรก เพราะให้ความสำคัญกับครูบาอาจารย์ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับขั้นตอนการขอกัมมัฏฐาน นำคำแนะนำของครูบาอาจารย์ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ในคัมภีร์กัมมัฏฐานรอมอธิบายสีลานุสสติกัมมัฏฐานเป็นหัวข้อแรก ต่อด้วยจาคานุสสติ พุทธานุสสติ จนถึงอุปสมานุสสติตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับการชำระศีลของผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น ดังจะพบว่า ในกัมมัฏฐานรอมนั้นผู้ปฏิบัติสามารถสมาทานกัมมัฏฐานจากพระพุทธรูป เจดีย์ ต้นโพธิ์ก็ได้หากศีลบริสุทธิ์แล้ว และในกัมมัฏฐานรอมได้นำลูกประคำใช้สำหรับการปฏิบัติกัมมัฏฐานอีกด้วย
Download |