หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ธีระพงษ์ จาตุมา
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ที่มีอิทธิพลต่องานพุทธศิลป์ล้านนา
ชื่อผู้วิจัย : ธีระพงษ์ จาตุมา ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุนทรี สุริยะรังสี
  พูนชัย ปันธิยะ
  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำการศึกษาคติความเชื่อในเรื่องของป่าหิมพานต์ที่มีอิทธิพลต่องานพุทธศิลป์ล้านนา มีจุดประสงค์ในการวิจัย ๓ ข้อคือ ๑.เพื่อศึกษาความเป็นมาและคติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ในพระพุทธศาสนา ๒.เพื่อศึกษาลักษณะรูปแบบงานพุทธศิลป์ล้านนา ๓.เพื่อศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ที่มีอิทธิพลต่องานพุทธศิลป์ล้านนา โดยได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ต่างๆ และหนังสือหรือตำราอื่นๆ รวมไปถึงค้นคว้าข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องของป่าหิมพานต์ ตลอดจนการสอบถามจากผู้รู้ในเชิงวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานพุทธศิลปกรรมและสายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำเสนอที่มาของความเชื่อและอิทธิพลของป่าหิมพานต์ที่ส่งผลต่อการสร้างงานพุทธศิลป์ในดินแดนล้านนา  เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและการปฏิบัติพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ต่อไป

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้แบ่งหัวข้อของการศึกษาออกเป็น ๕ บท โดยเริ่มจากการศึกษาประวัติความเป็นมาของคติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงการแพร่ขยายคติความเชื่อเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยและล้านนา รวมถึงศึกษาประวัติความเป็นมาของการสร้างงานพุทธศิลป์ในดินแดนล้านนา ลักษณะรูปแบบของงานพุทธศิลป์ล้านนา ในการศึกษาวิจัยนี้ศึกษาใน ๓ ด้านคือ ด้านงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อให้ทราบถึงคติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ส่งอิทธิพลต่อการสร้างงานพุทธศิลป์ในล้านนาอย่างไร

ผลของการศึกษาพบว่าคติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ หรือสัตว์พิสดารนั้นมีกันหลายชนชาติและความคิดนั้นอาจมาพ้องกันเข้าโดยบังเอิญ หรือให้อิทธิพลกันในทางความคิด แต่ลักษณะฝีมือทางช่างและศิลปะการตกแต่งแปลกกันออกไป มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ยุคอียิปต์ มีเทพรูปร่างเป็นมนุษย์หัวเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ชนชาติกรีกในยุคต่อมาก็ปรากฎสัตว์พิสดารในตำนาน  กรีกเป็นชนชาติแรกที่เชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชียให้เดินทางไปมาถึงกันได้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดความเชื่อในด้านต่างๆ ความเชื่อเรื่องของสัตว์พิสดารจึงแพร่ขยายเข้ามาในเอเชีย ประเทศที่เป็นบ่อกำเนิดของศิลปวัฒนธรรมในเอเชียคืออินเดีย มีสัตว์พิสดารที่มีส่วนสัมพันธ์กับของไทย เช่นครุฑ พญานาค เป็นต้น  ในส่วนของประเทศไทยเรานั้นความเชื่อเรื่องของสัตว์ประหลาดทั้งหลายนั้นมาพร้อมๆกับการเข้ามาของพระพุทธศาสนาจากอินเดีย  หลักฐานที่ชัดเจนที่กล่าวถึงสัตว์หิมพานต์คือไตรภูมิกถา ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๘๘

ดินแดนล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านการเมืองการปกครอง และในด้านการศาสนาถือว่ามีความเจริญถึงขีดสุด มีพระสงฆ์ที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถรจนาคัมภีร์ทางศาสนาที่เป็นที่ยอมรับไว้มากมาย เช่น จักรวาลทีปนี มังคลัตถทีปนี ปัญญสชาดก เป็นต้น คติความเชื่อเรื่องของสัตว์หิมพานต์จึงได้ถูกสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คติความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ส่งอิทธิพลต่อการสร้างงานพุทธศิลป์ในล้านนาคือ ในด้านจิตรกรรม มีการประดับตกแต่งศาสนสถานด้วยรูปสัตว์หิมพานต์มีทั้งแบบที่ใช้สีเขียนและแบบที่เป็นลายทอง ในด้านประติมากรรมมีการประดับตกแต่งอาคารศาสนสถานด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น พญานาค สิงห์ หงส์ กินรี และในด้านสถาปัตยกรรมความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์ส่งอิทธิพลต่อการวางผังสิ่งก่อสร้างภายในวัด การสร้างซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ซุ้มประตูโขงเปรียบเสมือนป่าหิมพานต์ เป็นประตูเชื่อมระหว่างแดนมนุษย์กับแดนสวรรค์ตามคติจักรวาล

การประดับตกแต่งศาสนสถานด้วยเหล่าสัตว์หิมพานต์ ด้วยเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์วิเศษ มีอำนาจ พละกำลังมาก สามารถปกป้องคุ้มครองอาคารศาสนสถานให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆได้ ในอีกด้านหนึ่งเพื่อให้เกิดความสวยงามตระการตา เป็นดั่งสรวงสวรรค์ ช่วยน้อมนำผู้คนให้เกิดความเลื่อมใส ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผาสุก และเพื่อเป็นเครื่องช่วยนำทางให้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นหรือหลุดพ้นจากวัฏสงสารอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาคือพระนิพพาน

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕