การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนา สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๒) เพื่อเปรียบเทียบบทบาทของพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนาสังคม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี อายุพรรษา อายุ ระดับการศึกษาทางธรรม ระดับการศึกษาทางโลก ภูมิลำเนา แตกต่างกัน และ ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข บทบาทของพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ วิธีการวิจัยเชิงปริมาณโดยศึกษาจากประชากรทั้งหมด คือ พระธรรมทูตอาสาที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ) จำนวน ๑๓๓ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามมีทั้งหมด ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ) เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลสถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย อายุพรรษา , อายุ, ระดับการศึกษาทางธรรม ระดับการศึกษาทางโลก ภูมิลำเนาเดิมของพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนที่ ๒ ) เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับบทบาทของพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งออกเป็น ๔ ด้าน คือ ตอนที่ ๓) เป็นแบบสอบถามลักษณะปลายเปิด (Open-ended) เกี่ยวกับ(วัตถุประสงค์ข้อ ๓ ) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบค่าที และ การทดสอบความแปรปรวนแบบทางเดียว
ระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับบทบาทของพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาพรวมทั้ง ๔ ด้านอยู่ในระดับมาก โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยสูงสุดได้ดังนี้ ด้านโครงการพุทธบุตร รองลงมาคือ ด้านเยี่ยมพระ พบปะโยม ด้านสร้างขวัญกำลังใจผู้ประสบภัย และด้านศาสนิกสัมพันธ์ตามลำดับ
ผลการเปรียบเทียบระดับของบทบาทพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำแนกตามสภาพผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ๑ )อายุพรรษา พบว่าอายุพรรษา ๑-๑๐ พรรษา และมากกว่า ๑๐ มี ระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุนชนโดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ ๐.๐๕ ๒ ) อายุ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุต่างกัน มีระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุนชนโดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ ๐.๐๕ ๓ ) การศึกษาทางธรรม พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการศึกษาทางธรรมต่างกันมีระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับ บทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุนชน โดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ ๐.๐๕ ๔ ) การศึกษาทางโลก พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการศึกษาทางโลก ต่างกัน มีระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุนชน โดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ ๐.๐๕ ๕) ภูมิลำเนาเดิม พบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุนชน โดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ ๐.๐๕
ข้อเสนอแนะ เกี่ยวบทบาทของพระธรรมทูตอาสาในการพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ๑๓๓ รูป พบว่าจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ๓๕ รูป ได้เสนอแนะ แนวทางเป็นโครงการที่ดีมากและสมควรได้ดำเนินการต่อไป เพราะเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวพุทธเป็นอย่างดี ข้อเสนอแนะเราควรทำอย่างไรให้การไปเยี่ยมโยมครอบคลุมทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมซึ่งบาง พื้นที่ยังไม่ค่อยได้ปรากฏภาพเหล่านี้ เพื่อสันติสุขและเข้าใจกันในทางที่ดี
Download
|