การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการจัดการสุขภาพชุมชนและศึกษาแนวทางกาพัฒนากระบวนการจัดการสุขภาพชุมชนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จาก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน ๒๖ คน กำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง จำนวน ๒๐ คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้นำชุมชน พระภิกษุ ครู กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ และเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบบังเอิญ จำนวน ๖ คน ซึ่งเป็นประชาชนผู้มารับบริการที่ รพ.สต.บ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง การบันทึกภาพและบันทึกเสียง
ผลการวิจัยพบว่า
กระบวนการจัดการสุขภาพชุมชนของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง มีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ ๑) การสำรวจข้อมูล สำรวจข้อมูลด้านสุขภาพ ปัญหา และความต้องการของคนในชุมชน การสร้างทีมแกนนำซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของชุมชน การเปิดโอกาสการเข้าร่วมแบบจิตอาสา การสร้างข้อตกลงร่วมในการกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน การออกแบบกิจกรรมการจัดการสุขภาพ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองประชาชน ๒) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในเวทีประชาคม และการประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน ๓) มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน วางแผนและดำเนินงานร่วมกันอย่างมีทิศทาง และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับบุคคล และระดับกลุ่ม รวมทั้งผลักดันโครงการเข้าสู่แผนพัฒนาชุมชนทีมีความสอดคล้องกับนโยบายบริหารงานในระดับท้องถิ่น ๔) และร่วมกันปฏิบัติตามแผนที่ได้จัดทำขึ้น ๕) มีการประเมินผลจากกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ๖) ร่วมกันสรุปถอดบทเรียน ในส่วนที่ยังบกพร่อง ก็นำมาปรับปรุงแก้ไข โครงการหรือกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จก็มีการขยายผล และเป็นต้นแบบให้กับรพ.สต.อื่น ๆ ในการจัดการสุขภาพชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ส่วนแนวทางในการพัฒนากระบวนการจัดการสุขภาพชุมชนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง พบว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย ควรมีการสร้างภาคีเครือข่าย สร้างแกนนำ และให้มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อทำให้การจัดการสุขภาพในชุมชนมีความเข้มแข็งโดยการบริหารจัดการร่วมกันโดยคนในชุมชนด้วยกันเองให้มากขึ้น มีการเสนอของบประมานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการที่กำหนดขึ้นสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง ควรมีการร่วมประเมินผลจากหน่วยงานอื่น และ ให้มีการประสานกับภาคีเครือข่าย ร่วมกันสรุปถอดบทเรียนและเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของ รพ.สต. หรือวิธีการอื่น ๆ ที่ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนทุกกลุ่มเพื่อที่จะได้สามารถนำผลสำเร็จจากโครงการที่ได้จัดทำขึ้นไปประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการจัดการสุขภาพชุมชน ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
Download |