การวิจัยเรื่อง “ศึกษาบทบาทการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบบูรณาการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบบูรณาการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้าน บ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และแนวทางในการพัฒนาบทบาทการจัดการสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุงโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Information) จำนวน ๒๗ คน โดยการกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง จำนวน ๒๒ คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ครู กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ และเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบบังเอิญ จำนวน ๕ คน ซึ่งเป็นประชาชนผู้มารับบริการที่ รพ.สต.บ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง เครื่องบันทึกเสียงและเอกสารรายงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลของการศึกษาตามวัตถุประสงค์สรุปได้ ดังต่อไปนี้
ผลการวิจัย พบว่า
๑. บทบาทการจัดการสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบ่อทราย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง มี ๕ ด้าน คือ ๑) บทบาทด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายและกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยใช้หลักการปฏิบัติคือ คือ ๓ อ. ๒ ส. และมีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัดปฏิบัติธรรมทาง จัดทำปิ่นโตสุขภาพ ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็ม มีกิจกรรมปฏิบัติธรรมโดยบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ๒) บทบาทด้านการป้องกันและการควบคุมโรค มีการดำเนินการ โดยการป้องกันก่อนเกิดโรค และควบคุมหลังเกิดโรค ซึ่งมีการทำงานบูรณาการกับภาคีเครือข่ายมี อสม. เป็นแกนหลักในการประสานกับชุมชน และยังมีหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือทีม SRRT เป็นหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ ๓) บทบาทด้านการรักษาพยาบาลนั้นรพ.สต.บ้านบ่อทราย มีการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยเบื้องต้น โดยพยาบาลวิชาชีพ และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลป่าพะยอม โดยมีการใช้บริการสายด่วน ๑๖๖๙ ซึ่งเป็นหน่วยบริการฉุกเฉิน ผ่านการอบรมในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นมาเป็นอย่างดี ๔) บทบาทด้านการฟื้นฟูสภาพได้มีการติดตามฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาและมีทีม Care Giver ติดตามช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ ทั้งด้านร่างกาย และ จิตใจ และ ๕) บทบาทด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการสุ่มตรวจร้านค้าและอาหารริมทางโดยรพ.สต.ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และ อสม. และจัดอบรมผู้ประกอบการร้านค้า
๒) แนวทางการพัฒนาบทบาททั้ง ๕ ด้าน คือ ๑) ด้านการส่งเสริมสุขภาพ รพ.สต.ควรจะสำรวจความต้องการของประชาชนและจัดโครงการให้ตรงตามความต้องการ รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์การส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ ๒) ด้านการป้องกันและควบคุมโรค รพ.สต ควรจะให้มีการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแจ้งข่าวประสานงานให้ได้รับข้อมูลได้อย่างรวดเร็วขึ้น ๓) ด้านการรักษาพยาบาล รพ.สต.ควรเสนออัตรากำลังบุคคลากรที่ รพ.สต.ยังขาดแคลน รวมถึงการของบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคารและจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอต่อการให้บริการ ๔) ด้านการฟื้นฟูสภาพ ควรมีการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพภาคีเครือข่ายให้สามารถฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น และ ๕) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สต ควรจะมีการจัดอบรมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ กลุ่ม อสม. อย น้อย ผู้นำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจ สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ และควรให้มีการสำรวจร้านค้าชุมชน ตรวจดูผลิตภัณฑ์ ให้ทั่วถึงและครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุดเพื่อจะได้นำมาจัดการได้ถูกทาง
Download
|