วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ๒) เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ที่มีเพศ อายุ รายได้ สถานภาพสมรส และกลุ่มภารกิจ ต่างกัน ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำนวน ๗๕๓ คนกำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครซซี่และมอร์แกน ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๕๔ คน และผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาด้านสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชจำนวน ๖ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติทดสอบ t–test ค่าสถิติทดสอบ F–test การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรายคู่ โดยวิธีของเชฟเฟ่ และการใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. คุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โดยรวมทั้ง ๔ ด้าน อยู่ในระดับปานกลาง ( =๒.๙๗) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน โดยเรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย พบว่า ด้านชีวิตและครอบครัวมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ( =๓.๐๙) รองลงมา ได้แก่ ด้านประชาธิปไตยในองค์กร ( =๓.๐๐) และด้านความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ( =๒.๘๗) มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด เมื่อจำแนกตามเพศ อายุ รายได้ สถานภาพสมรส และกลุ่มภารกิจ พบว่า ทุกกลุ่มมีระดับคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช พบว่า พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีเพศ อายุ รายได้ ต่างกันมีคุณภาพชีวิตในการทำงาน โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน ส่วนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ที่มีสถานภาพสมรส และกลุ่มภารกิจต่างกัน มีคุณภาพชีวิต ในการทำงาน โดยภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
๓. ปัญหาและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช พบว่า ด้านการทำงานเงินเดือนที่ได้รับ และสวัสดิการของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณงานหรือลักษณะงานที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ขาดแรงจูงใจและขวัญกำลังใจในการทำงาน เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานบางรายการไม่เพียงพอและทันสมัย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่รุ่นเก่า ไม่สามารถรองรับโปรแกรมใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้านชีวิตและครอบครัว ปริมาณงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะการอยู่เวรที่มากหรือถี่เกินไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัวบ้าง ด้านประชาธิปไตยในองค์กร หน่วยงานเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเท่าที่ควร การพิจารณาค่าตอบแทนหรือความดีความชอบ ยังขาดความเป็นธรรม ด้านความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน งานที่รับผิดชอบในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะความสามารถ ขาดการฝึกอบรมสัมมนาหรือศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ส่วนแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช พบว่า ด้านการทำงาน ควรมีการปรับระดับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน หรือหน่วยงานควรมีการจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพ ควรสนับสนุนเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานบางรายการให้เพียงพอและทันสมัย ด้านชีวิตและครอบครัว ควรเพิ่มจำนวนบุคลากรในบางงาน เนื่องจากสามารถทำให้ลดปัญหาการอยู่เวรนอกเวลาราชการที่ถี่เกินไปจนมีผลกระทบต่อสุขภาพและครอบครัว ด้านประชาธิปไตยในองค์กร หน่วยงานควรยอมรับข้อเสนอแนะและนำไปสู่การปฏิบัติตามความถูกต้องเหมาะสมให้ มากขึ้น การพิจารณาค่าตอบแทน หรือความดีความชอบ ควรพิจารณาจากผลการดำเนินงาน ด้านความมั่นคงและโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข สามารถพัฒนาทักษะความสามารถ การฝึกอบรม สัมมนา หรือศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ มีความมั่นคงและมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากยิ่งขึ้น
Download |