วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจชำระ ศึกษาด้านเนื้อหา วิธีเขียนไวยากรณ์
และวิธีจารลงในใบลานโยชนามูลกัจจายนะ ปริเฉทที่ ๑ – ๒ (สนธิ – นาม) เป็นคัมภีร์อธิบาย
ความหมายของคำและความในคัมภีร์กัจจายนไวยากรณ์ ในทางพระพุทธศาสนา แต่งขึ้นที่เชียงใหม่
ในสมัยล้านนา โดยพระญาณกิตติเถระ ประมาณต้นพุทธศตวรรตที่ ๒๑ แต่ไม่ทราบว่าต้นฉบับ
ตัวเขียนเดิมยังมีอยู่ในหอสมุดใด ทราบแต่เพียงว่า ได้มีการคัดลอกจารลงในใบลานสืบต่อ ๆ กันมา
หลายสมัย ในการตรวจชำระได้ใช้ต้นฉบับได้นำฉบับรดน้ำดำโท ร. ๓ ในหอสมุดแห่งชาติ สมัยกรุง
รัตนโกสินทร์ ซึ่งจารได้สมบูรณ์กว่าทุกฉบับมาเป็นต้นฉบับ แล้วนำฉบับอื่นที่หาได้และมีความสมบูรณ์พอที่จะนำมาตรวจชำระ ที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ๒ ฉบับ คือ ฉบับทองน้อย,และฉบับทองทึบ ฉบับเทพชุมนุมของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ๑ ฉบับ และฉบับวัดสังข์กระจายวรวิหารอีก ๑ ฉบับ รวมเป็น ๕ ฉบับเนื้อหา ของวิทยานิพนธ์แบ่งออกเป็น ๕ บท คือ :
บทที่ ๑ เป็นบทนำ กล่าวถึงความเป็นมาของปัญหา
บทที่ ๒ ว่าด้วยประวัติผู้แต่ง สมัยที่แต่ง เนื้อหา วิธีการเขียนไวยากรณ์วิธีจารลงในใบลาน ต้นฉบับคัมภีร์ในการตรวจชำระ วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตรวจชำระวิวัฒนาการความเป็นมาของการคัดลอก และการจารต้นฉบับ ข้อผิดพลาดที่พบในการจาร
บทที่ ๓ว่าด้วยคัมภีร์โยชนามูลกัจจายนะที่ตรวจชำระแล้วพร้อมทั้งข้อความที่ผิดพลาด
บทที่ ๔ ว่าด้วยคัมภีร์โยชนามูลกัจจายนะแปล
บทที่ ๕ ว่าด้วยบทสรุปและข้อเสนอแนะผลของการวิจัยพบว่า :
ผลของการวิจัยพบว่า พระญาณกิตติเถระ ได้นำเอาสูตรในคัมภีร์มูลกัจจายนะ
มาอธิบาย แต่ส่วนมากไม่มีการอธิบายสูตรและวุตติ เป็นการแสดงวิธีการสำเร็จรูปของบท คล้าย
กับคัมภีร์ปทรูปสิทธิ บางสูตรยังไม่ถึงลำดับสูตรผู้รจนาก็นำมาเรียกใช้เพื่อความสำเร็จรูปของบท
บางสูตรท่านผู้รจนาอาจเห็นว่าง่าย จึงไม่ได้อธิบาย เพียงแต่ยกอุทาหรณ์ขึ้นอ้างเท่านั้น และท่าน
ยังได้รวบรวมรูปคำจากคัมภีร์ต่าง ๆ มาประกอบคำอธิบาย เช่น คัมภีร์สัททนีติ คัมภีร์ปทรูปสิทธิ
คัมภีร์โมคคัลลานไวยากรณ์ คัมภีร์นยาสะ เป็นต้น ทำให้เข้าใจง่าย และได้เป็นอุปกรณ์ใน
การศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายนะ สำหรับกุลบุตรผู้มีความสนใจ
Download : 254949.pdf |