การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไป ของสมรรถนะข้าราชการครู
(๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะครู (๓) เพื่อเสนอกลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะครูเชิงพุทธบูรณาการ ของข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี คือ ทั้งเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ ในเชิงคุณภาพ ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ที่เป็นพระภิกษุ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มศึกษานิเทศก์ และกลุ่มข้าราชการครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ จำนวน ๓๐ คน และในเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ จำนวน ๒๒๓ คน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการศึกษาสภาพทั่วไป ในการพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการครู พบว่า การพัฒนาสมรรถนะครูมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของภารกิจหลัก คือการเรียนการสอน และภารกิจเสริม คือ ธุรการ การเงิน พัสดุ วิชาการ งานทั่วไป และสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โครงสร้าง และระบบการบริหารจัดการ จึงทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาตนเอง และจากการแจกแบบสอบถามครู พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดในด้านการรักษาวินัยของข้าราชการครู และตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ นอกนั้นอยู่ในระดับมาก
๒. ผลการศึกษาหลักพุทธรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะครู พบว่า ผู้วิจัยได้บูรณาการ กระบวนการเสริมสร้างสมรรถนะครูให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพตามแนวทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ไตรสิกขา และหลักอิทธิบาทธรรม
๓. กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะครูด้านการพัฒนาตนเองที่ใช้กระบวนการตามหลักไตรสิกขา และอิทธิบาท ๔ ด้านศีล พบว่า การรักษาระเบียบวินัย การแต่งกาย มีมนุษยสัมพันธ์ พูดจาไพเราะ ด้านสมาธิ พบว่า มีความตั้งใจและตระหนักในภาระหน้าที่ มีสติ ตระหนักในหน้าที่ ด้านปัญญา พบว่า กรสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดความรู้ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ด้านฉันทะ พบว่า ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ พอใจในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านวิริยะ พบว่า ความมุ่งมั่นแสวงหาความรู้และเสียสละต่อผู้รับบริการ มีความรับผิดชอบ ด้านจิตตะ พบว่า ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้รับบริการ ตะหนักถึงภาระหน้าที่รับผิดชอบ และด้านวิมังสา พบว่า การรวบรวม สังเคราะห์ใช้สติไตร่ตรองข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนางาน
กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะครูด้านการพัฒนาตนเองตัวชี้วัด ด้านการศึกษาค้นคว้า คือ ปลูกฝังให้รักการค้นคว้า ใฝ่รู้ด้วยตนเอง นำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน การประชุม หรือสัมมนา และการศึกษาดูงาน ด้านการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรสร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ในการพัฒนา คิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ มีโครงการ และมีการประเมินผลโครงการเพื่อปรังปรุงอย่างต่อเนื่อง ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน หลากหลายช่องทาง กำหนดเป้าหมายการแบ่งปัน สร้างผู้นำที่เป็นแบบอย่าง และสร้างแรงจูงใจที่สนับสนุนการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
Download |