วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความสามัคคีในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมเพื่อความสามัคคีในพระพุทธศาสนา ๓) การประยุกต์หลักธรรมเพื่อสร้างความสามัคคีในพระพุทธศาสนา การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยทางเอกสาร โดยเก็บข้อมูลจากพระไตรปิฎก หนังสือ เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า
แนวคิดเกี่ยวกับหลักความสามัคคีในพระพุทธศาสนา กล่าวถึงลักษณะของความสามัคคีใน ๓ ลักษณะ คือ สังฆราชี (ความร้าวฉานของหมู่คณะ) สังฆเภท และ สังฆสามัคคี หมายเอาการตั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตาในมิตรสหายและคนทั้งหลายในสังคม ความสามัคคีเป็นการแสดงออกซึ่งการร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ความสามัคคีจะก่อให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันและก็สามารถปฏิบัติงานทุกอย่างได้สำเร็จ
การสร้างความสามัคคีของสังคม โดยหลักพุทธรรมในการสร้างความปรองดอง หรือความสามัคคีกัน เช่น หลักสังคหวัตถุ หลักสาราณียธรรม หลักอปริหานิยธรรม เป็นฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติทั้งด้านส่วนตัวและสังคมส่วนรวม เป็นสื่อสัมพันธ์ให้เข้าถึงจิตใจของกันและกัน เป็นที่รักของกันและกันต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน สงเคราะห์กัน ถือความสามัคคีเป็นใหญ่ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
การประยุกต์หลักธรรมเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในพระพุทธศาสนาเป็นการเชิญชวน ทุกคนให้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ไม่ฝืนทำอะไรตามใจหรือตามกิเลส ตัณหาของตนและเมื่อทุกคน ทุกฝ่าย และทุกคณะในสังคมไม่มีความขัดแย้งกัน มีแต่ความสามัคคีปรองดองกันแล้ว การปฏิบัติตามหลักธรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตร่วมกันจะช่วยส่งผลให้สังคมไทยมีความสงบร่มเย็น บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศชาติที่น่าอยู่อาศัยด้วยผลแห่งความสามัคคี
Download |