วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องศีลตามหลักพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาความเข้าใจเรื่องศีลของชาวตำบลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการรักษาศีลของชาวตำบลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้วิธีการวิจัยเอกสารและลงภาคสนามเก็บข้อมูลสามารถสรุปผลการศึกษาตามลำดับ ดังนี้
จากการศึกษาพบว่า ศีลตามหลักพระพุทธศาสนา คือ ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมการกระทำทางกายและทางวาจาของให้มนุษย์มีความสุจริตทางกาย วาจาและอาชีพ โดยการรักษาศีลมี ๓ วิธี คือ ๑) สมาทานวิรัติ ๒) สัมปัตตวิรัติ และ ๓) สมุจเฉทวิรัติ ศีลมี ๓ ระดับ คือ ๑) จูฬศีล ๒) มัชฌิมศีล และ ๓) มหาศีล การรักษาศีลมีอานิสงส์ ๕ อย่างคือ ๑) ได้โภคทรัพย์ ๒) มีกิตติศัพท์ดีงามในทุกสารทิศ ๓) มีความอาจหาญในสังคม ๔) ไม่ตายอย่างไร้สติ ๕) เกิดในสุคติภูมิ ส่วนการไม่รักษาศีลมีโทษ ๕ อย่าง คือ สูญเสียโภคทรัพย์ ๒) มีกิตติศัพท์ที่ไม่ดีในทุกสารทิศ ๓) ไม่มีความอาจหาญในสังคม ๔) ตายอย่างไร้สติ ๕) เกิดในอบายภูมิ ส่วนคติความเชื่อจากการรักษาศีลมี ๓ อย่างคือ ๑) การเกิดบนสวรรค์ ๒) การได้โภคทรัพย์สมบัติ และ ๓) การเข้าสู่พระนิพพาน ส่วนองค์ประกอบที่ส่งเสริมการรักษาศีล มี ๔ อย่างคือ ๑) การให้ทาน ๒) การศึกษาธรรม ๓) การฟังธรรม และ ๔) การปฏิบัติธรรม
ส่วนความเข้าใจเรื่องศีลของชาวตำบลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ชาวตำบลสำโรงมีความเข้าใจเรื่องศีลดังนี้ ๑) ความเข้าใจด้านการดำรงชีวิตตามหลักของศีล ๒) ความเข้าใจขั้นตอนข้อปฏิบัติในการรักษาศีล ๓) ความเข้าใจด้านเจตนารมณ์ของศีลในการรักษาศีล ๔) ความเข้าใจด้านหลักพุทธธรรมในการรักษาศีล ๕) ความเข้าใจธรรมเนียมข้อปฏิบัติที่ควรปฏิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์ และ ๖) ความเข้าใจด้านปัญหาสังคมจากการไม่รักษาศีลของชาวตำบลสำโรง
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการรักษาศีลของชาวตำบลสำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มีแนวทางการที่ส่งเสริมการรักษาศีล ๓ ระดับคือ ๑) แนวทางการส่งเสริมการรักษาศีลในระดับครอบครัว ๒) แนวทางการส่งเสริมการรักษาศีลในระดับชุมชน และ ๓) แนวทางการส่งเสริมการรักษาศีลในระดับสังคม
Download
|