การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาระดับสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ ๒) เพื่อศึกษาความแตกต่างระดับสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธของผู้สูงอายุจำแนกตามข้อมูลส่วนบุคคล ประชากรคือผู้สูงอายุผู้มาปฏิบัติธรรม ณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๘๘ คน เครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลคือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ประกอบด้วย ค่าร้อยละ,ค่าเฉลี่ย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน, ทดสอบค่าที, One Way ANOVA ผลการวิจัยพบว่า ๑) ข้อมูลทั่วไป ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ ๗๕ มีอายุ ๖๐ ปี - ๙๐ ปี ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง ๗๑-๘๐ ปี (ร้อยละ ๕๘.๕๑) สถานภาพการสมรสส่วนใหญ่เป็นโสด (ร้อยละ๘๒.๙๘) อาชีพส่วนใหญ่เป็นอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย (ร้อยละ ๔๓.๐๙) ระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่าเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๘๖.๑๗) ส่วนรายได้ต่อเดือนนั้นส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน (ร้อยละ ๘๓.๕๑) ๒) ระดับการรับรู้ปัจจัยจิตสังคม พบว่าผู้สูงอายุฯ มีระดับการรับรู้ปัจจัยจิตสังคมโดยรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย=๔.๙๓, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน=๐.๖๙) ๓) ระดับการรับรู้สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ พบว่ามีระดับการรับรู้สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธในระดับ มาก (ค่าเฉลี่ย = ๔.๔๔, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = ๐.๓๖) จัดลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ ลำดับ ๑ ด้านปัญญาภาวนา (ปัญญา) (ค่าเฉลี่ย = ๔.๘๙) ลำดับ ๒ ด้านศีลภาวนา (สังคม) (ค่าเฉลี่ย = ๔.๘๖) ลำดับ ๓ ด้านจิตตภาวนา (อารมณ์) (ค่าเฉลี่ย = ๔.๔๖) ลำดับ ๔ ด้านกายภาวนา (กาย) (ค่าเฉลี่ย = ๓.๕๘) ๔) ความแตกต่างในระดับการรับรู้สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ พบว่า เพศ อายุ สถานภาพการสมรส อาชีพเดิมและระดับการศึกษาสูงสุดของผู้สูงอายุไม่ส่งผลต่อความแตกต่างต่อระดับสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ แต่รายได้ต่อเดือนของผู้สูงอายุพบว่าส่งผลต่อความแตกต่างต่อระดับสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕
Download |