การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระอินทร์ในนิทานชาดก” โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาและบทบาทของพระอินทร์ ๒) เพื่อศึกษาเรื่องเล่าของพระอินทร์ในนิทานชาดก ๓) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของพระอินทร์ในนิทานชาดก วิธีดำเนินการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการศึกษาพบว่า พระอินทร์เป็นบุคลาธิษฐานในตำนานที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้เคารพเชื่อถือทั้งในศาสนาต้นกำเนิดคือ ศาสนาพราหมณ์ และ พระพุทธศาสนา ปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านความเชื่อเกี่ยวกับพระอินทร์แบ่งได้ ๓ ช่วง คือ ๑) จุดกำเนิดคติเทวานุภาพพระอินทร์ในฐานะเทพารักษ์ชาวอริยกะลุ่มแม่น้ำสินธุก่อนยุคพระเวทซึ่งเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด เป็นทั้งผู้สร้างโลก-เทพแห่งสงคราม และความหวังการเอาชีวิตรอดความโหดเหี้ยมจากภัยธรรมชาติ ๒) ช่วงปรับเปลี่ยนบทบาทควบคู่กับวิวัฒนาการศาสนาพราหมณ์ เป็นอัตลักษณ์เชื่อมโยงวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ด้วยพิธีบูชายัญที่เรียกว่าอัศวเมธ ๑๐๐ ครั้ง และถูกลดอำนาจบทบาทลงเพื่อเข้าสู่การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางศาสนา และช่วงที่ ๓) เปลี่ยนผ่านเข้าสู่เทพอภิบาลพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญในด้านคุณธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระบบวรรรณะ สะท้อนภาพพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี
สำหรับบทบาทพระอินทร์ในนิทานชาดกแตกต่างจากศาสนาต้นแบบด้วยเหตุว่าต้องปฏิบัติกุศลธรรม เช่น วัตตบท ๗ อย่างบริบูรณ์โดยไม่ปรากฏความตกต่ำด้านพฤติกรรมมากนัก ซึ่งในนิทานชาดกพระอินทร์มีจุดเด่นด้านการแสดงถึงจริยธรรมในสถานภาพที่หลากหลาย คือ ผู้นำที่เปี่ยมเมตตา, ผู้ตามเปี่ยมด้วยศรัทธา, พุทธสาวกผู้อุปัฏฐาก, บรรพบุรุษผู้ตั้งมั่นทานบดี, สามีผู้ยึดมั่นวาจาสัตย์, บิดาผู้เที่ยงธรรม, นักสังคมสงเคราะห์บำเพ็ญประโยชน์, บุตรกตัญญู, ญาติผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่, กัลญาณมิตรต่อผู้ประพฤติธรรม, บุคลาธิษฐานเปรียบองค์ด้วยกฎแห่งกรรม, พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี สะท้อนผ่านเรื่องราวที่ปรากฏในนิทานชาดกทั้ง ๒๑ เรื่อง
เมื่อวิเคราะห์บทบาทพระอินทร์ในแง่การรองรับหลักการทางพระพุทธศาสนาพบว่า แนวคิดพระอินทร์ยืนยันสาระสำคัญเรื่องการทำหน้าที่ของมนุษย์ใน ๒ บทบาท คือ ๑) บุคคลที่สมควรแก่การได้รับความช่วยเหลือต้องพึงกระทำหน้าที่ตนด้วยคุณธรรมความดีอย่างเต็มขีดความสามารถ และ ๒) บุคคลผู้ให้ความอนุเคราะห์ ย่อมมีความดีในตนเป็นตัวผลักดันให้ช่วยเหลือตามหน้าที่ผ่านวิธีการรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งอัตลักษณ์ของพระอินทร์ที่ประมวลจากกรอบการวิจัย ๓ ด้าน สรุปได้ดังนี้ ๑) คุณลักษณะ ปรากฏคุณลักษณะ ๔ บทบาทในฐานะผู้วินิจฉัยแก้ไขปัญหาทางจริยธรรม, ผู้พิทักษ์รักษาผู้ประพฤติธรรม, ผู้อุปถัมภ์ปกป้องพุทธศาสนา, พุทธมามกะผู้นำศรัทธา ๒) คุณธรรม แสดงออกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สะท้อนบทบาทอันเป็นอัตลักษณ์ของพระอินทร์ ได้แก่ วัตตบท ๗, เทวธรรม ๒, กุศลกรรมบท ๑๐, จาคะ การเสียสละ, ศีล, เมตตาธรรม, การสำรวมอินทรีย์ ๖ และการละอบายมุข ๓) คุณประโยชน์ เป็นผู้อำนวยประโยชน์ต่อองค์ประกอบทางพระพุทธศาสนาและคณะบุคคล ได้แก่ พระรัตนตรัย, ครอบครัว, ชุมชนตลอดจนสังคม จากการเสียสละอุทิศตนบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั้งในฐานะผู้นำเหล่าเทวดาและมนุษย์ ซึ่งรับรองด้วยพุทธดำรัสที่ตรัสถึงความประพฤติไว้ในคัมภีร์หลายส่วน ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจใคร่ศึกษาว่าทำไมพระอินทร์จึงแสดงบทบาทเหล่านี้ในพระพุทธศาสนา
Download
|