ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อสังเคราะห์หลักพุทธธรรมและจิตวิทยาในการจัดการศึกษาในโรงเรียนวิถีพุทธ ๒) เพื่อวิเคราะห์การจัดการศึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยาในโรงเรียนวิถีพุทธที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยาในโรงเรียนวิถีพุทธ ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือครูและผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน ๑๓ คน จาก ๘ โรงเรียน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง และตรวจสอบรูปแบบที่พัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๗ ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแนวคำถามในการสัมภาษณ์ และแบบตรวจสอบรูปแบบการจัดการศึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยาในโรงเรียนวิถีพุทธ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย
ผลการวิจัยมีดังนี้
๑. ผลการสังเคราะห์หลักพุทธธรรมและจิตวิทยาในการจัดการศึกษาในโรงเรียนวิถีพุทธคือ ด้านปัจจัยจูงใจประกอบด้วยความต้องการพัฒนาตนเองคือ ๑) การพัฒนาด้านจิตใจ ๒) การพัฒนาด้านร่างกาย ๓) การพัฒนาด้านอารมณ์ ๔) การพัฒนาด้านสติปัญญา ๕) การพัฒนาด้านสังคม ๖) การพัฒนาด้านความรู้ ๗) การพัฒนาตนเองสู่ความต้องการของตลาดแรงงาน ด้านปัจจัยค้ำจุนคือนโยบายและการบริหารจัดการศึกษา ความสัมพันธ์กับชุมชน ด้านสวัสดิการการส่งเสริมการศึกษา การจัดสรรงบประมาณในการจัดการศึกษา สื่อวัสดุ-อุปกรณ์ การเรียนการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ด้านการวัดผลและประเมินผล
๒. ผลการวิเคราะห์การจัดการศึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยาในโรงเรียนวิถีพุทธที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี ประกอบด้วย ด้านกายภาพมีพระพุทธรูป บรรยากาศร่มรื่น สะอาด สงบ ปลอดอบายมุข ด้านกิจกรรมพื้นฐานของวิถีชีวิตประกอบด้วยรักษาศีล ๕ ยิ้มง่าย ไหว้สวย กราบงาม ด้านการเรียนการสอนมีการบูรณาการหลักพระพุทธศาสนาสู่การจัดการเรียนการสอน ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์มีการเรียนการสอนอย่างกัลยาณมิตร ด้านการบริหารคือการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
๓. รูปแบบการจัดการศึกษาตามแนวพุทธจิตวิทยาในโรงเรียนวิถีพุทธคือการจัดการเรียนการสอนโดยยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนอย่างเป็นกัลยาณมิตรโดยมีไตรสิกขาเป็นกระบวนการผ่านบ้าน วัด โรงเรียน และนำมาบูรณาการเพื่อนำไปสู่การที่เด็กเป็นคนดี เป็นคนเก่งและมีความสุข โดยที่การจัดการเรียนการสอนนั้นต้องมีความเป็นกัลยาณมิตรกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ด้วยการผ่านการบริหารคน เงิน อุปกรณ์ การจัดการอย่างเป็นระบบ (M: Management) รวมทั้งมีการจัดการเรียนรู้ (L: Learning) วิธีการสอน ๕ ขั้นคือ ขั้นนำ ขั้นกิจกรรม ขั้นวิเคราะห์และอภิปราย ขั้นสรุปและนำหลักการไปประยุกต์ใช้ และขั้นประเมินผล และวัดประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้โดยมีปัจจัยสนับสนุน (S: Supporting) ได้แก่ ห้องเรียนที่มีสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้คือสะอาดถูกสุขลักษณะน่าอยู่ สีสันน่าดูและเหมาะสมสบายตา บรรยากาศปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี บรรยากาศความเป็นอิสระของการเรียน การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถสรุปได้เป็น “MLS Model สำหรับพุทธจิตวิทยาการจัดการศึกษาในโรงเรียนวิถีพุทธ”
Download
|