หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กนกวรรณ ขวัญอ่อน
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๖ ครั้ง
พุทธจิตวิทยาสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแล ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : กนกวรรณ ขวัญอ่อน ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พุทธชาติ แผนสมบุญ
  พระมหาเผื่อน กิตติโสภโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอโปรแกรมพุทธจิตวิทยาการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี วิธีการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจตามหลักพุทธจิตวิทยา ๒) เพื่อพัฒนากระบวนการสร้าง  ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ ๓) เพื่อนำเสนอโปรแกรม พุทธจิตวิทยาการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมวิธีโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อขยายผลวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การศึกษาเอกสารและการศึกษาภาคสนามโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งสิ้น ๑๐ รูป/คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง แล้วนำผลจากวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพไปตรวจสอบยืนยันด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้การวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๔๐ คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ ๒๐ คนด้วยกระบวนการสุ่ม กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมพุทธจิตวิทยาการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์ โปรแกรมพุทธจิตวิทยาสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจและแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติแบบบรรยายและการทดสอบค่าทีด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป

ผลการวิจัยมีดังนี้

๑. การสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจตามหลักพุทธจิตวิทยา เกิดขึ้นจากองค์ประกอบของความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ คือ ๑) แหล่งสนับสนุนภายนอกที่ส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ๒) ความเข้มแข็งภายในของแต่ละบุคคล ๓) ทักษะด้านการจัดการปัญหาและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ๔) การสื่อสารระหว่างบุคคล  ๕) การวางแผน ๖) การลงมือทำ บูรณาการเข้ากับหลักสัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ ตามพุทธวิธี

             ๒. กระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบด้วย กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตนเอง ๘ ขั้นตอน คือ ๑) รู้จักตัวเราเข้าใจเขา     ๒) เฝ้าประเมินตน ๓) ค้นหาสภาวะ ๔) ทะยานสู่หนทาง ๕) ขวนขวายทางเลือก ๖) ขยายแผนชีวิต ๗) ฟิตลงมือทำ และ ๘) วัด skill พร้อมติดตาม แบ่งออกเป็น ๑๓ กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการบูรณาการตามหลักพุทธจิตวิทยา 6-I 3-R (I have, I am, I can, I message, I plan, I do, Right Understanding, Right Effort, Right Mindfulness) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากกระบวนที่ตนเองผ่านพ้นสถานการณ์นั้น

๓. การประเมินผลการทดลองใช้โปรแกรมพุทธจิตวิทยาการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่า ๑) คะแนนเฉลี่ยความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕       ๒) คะแนนเฉลี่ยความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ และ ๓) คะแนนเฉลี่ย            ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในกลุ่มทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามไม่แตกต่างกัน แสดงว่า มีความคงทนของระดับความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นผลจากการใช้โปรแกรมพุทธจิตวิทยาการสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ที่พัฒนาขึ้น ตามกระบวนการ ๘ ขั้นที่บูรณาการหลักพุทธจิตวิทยา 6-I 3-R ด้วยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตนเองเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติในชีวิตและเกิดความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕