การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสัญลักษณ์ หลักการและกระบวนการของพิธีกรรมการเจิมในสังคมไทย๒) เพื่อวิเคราะห์ทัศนคติและประสิทธิภาพในการเจิมของพุทธศาสนิกชน ในสังคมไทย และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการเสริมแรงใจตามหลักพุทธจิตวิทยาด้วยพิธีกรรมการเจิมของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยใช้การวิจัยแบบผสมวิธีด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อขยายผลวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิธีกรรมการเจิมผู้เชี่ยวชาญทางด้านพุทธธรรม จิตวิทยาร่วมสมัยและผู้เคยผ่านพิธีกรรมการเจิมจำนวน ๑๖ รูป/คน โดยใช้การเลือกแบบเจาะจง สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณใช้การสุ่มอย่างง่าย ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๒๗๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย และวิเคราะห์ข้อมูล
เชิงปริมาณด้วยสถิติบรรยาย วิเคราะห์สหสัมพันธ์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์และวิเคราะห์ขนาดอิทธิพลทางตรงและทางอ้อม
ด้วยโปรแกรม LISREL
ผลการวิจัย มีดังนี้
๑. สัญลักษณ์ต่างๆ ในพิธีกรรมการเจิมในสังคมไทย สามารถสื่อถึงหลักธรรม
พระรัตนตรัย ให้คนทำความดี การเริ่มใหม่ การก้าวไปข้างหน้า เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีหลักการและกระบวนการ คือเตรียมผู้เจิมและผู้ถูกเจิม เริ่มตั้งแต่นิมนต์พระ ดูเวลา ฤกษ์ยาม วันที่ดีที่เหมาะสมตามฤกษ์ตามชัยเตรียมสถานที่และวัตถุที่จะเจิมเตรียมแป้ง น้ำหอม น้ำมนต์ แผ่นทอง ผู้เจิมทำพิธีการเจิม เริ่มตั้งแต่ มีพิธีสงฆ์คือสวดมนต์ มีการอาราธนาคุณพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสงฆ์คุณครูบาอาจารย์และบิดามารดา รับศีล พระเจริญพุทธมนต์ ถวายเครื่องสักการะ พระสงฆ์ฉัน ให้พร เสร็จแล้วจึงเจิม และผู้เจิมสอนหลักธรรมที่เกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตด้วยการเทศน์หรือให้ข้อคิดจากการเจิม
๒. ทัศนคติและประสิทธิภาพในการเจิมของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทยเกิดจากศรัทธาและความคาดหวังในการเสริมแรงใจให้ทำสิ่งที่ดีงามสามารถแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของกระบวนการของผู้เคยผ่านการเจิมว่ามีศรัทธาอยู่ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) ศรัทธาในผู้เจิม ๒) ศรัทธา ในพิธีกรรม และ ๓) ศรัทธาในคนต้นแบบ จากศรัทธานั้นนำไปสู่การเกิดความคาดหวัง ๓ ประการ ประกอบด้วย ๑) เป้าหมาย ๒) ความพยายามต่อการกระทำ และ ๓) การกระทำต่อผลลัพธ์นำไปสู่การเสริมแรงใจตามหลักพุทธจิตวิทยาด้วยพิธีกรรมการเจิม ๕ ประการ ประกอบด้วย ๑) ความเชื่อมั่น ๒) การมองโลกในแง่ดี๓) ศีล ๔) สมาธิ และ ๕) ปัญญา
๓. รูปแบบการเสริมแรงใจตามหลักพุทธจิตวิทยาด้วยพิธีกรรมการเจิมของพุทธศาสนิกชนในสังคมไทย (FPECOT Model) ประกอบด้วย ๑) ความศรัทธา (Faith: F) ได้แก่ (๑) ศรัทธาในผู้เจิม (๒) ศรัทธาในพิธีกรรม และ (๓) ศรัทธาในคนต้นแบบ ๒) กระบวนการของพิธีกรรมการเจิม (Process: P) ได้แก่ (๑) เตรียมผู้เจิม ผู้ถูกเจิมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (๒) ผู้เจิมทำพิธีการเจิม (๓) ผู้เจิมสอนหลักธรรมที่เกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต ๓) ความคาดหวัง (Expectation: E) ได้แก่ (๑) มีเป้าหมาย (๒) ความพยายามที่จะกระทำ (Effort) (๓) การกระทำต่อผลลัพธ์ (Performance) ๔) การเสริมแรงใจตามหลักพุทธจิตวิทยา (COT) ได้แก่ ความเชื่อมั่นในตนเอง (Confidence) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) และไตรสิกขา (Threefold Learning) โดยพัฒนาจากโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของรูปแบบการเสริมแรงใจตามหลักพุทธจิตวิทยาที่มีความคาดหวังเป็นตัวแปรส่งผ่าน พบว่ามีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีค่าไค-สแควร์ เท่ากับ ๒๖.๐๔ องศาอิสระเท่ากับ ๒๐ และค่าความน่าจะเป็น (p) เท่ากับ ๐.๑๖ ดัชนีวัดความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ ๐.๙๘ ค่าดัชนีความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ ๐.๙๔ ค่าดัชนีรากกำลังสองเฉลี่ยของค่าความแตกต่างโดยประมาณ (RMSEA) เท่ากับ ๐.๐๓๔ อธิบายความแปรปรวนของการเสริมแรงใจตามหลักพุทธจิตวิทยาได้ร้อยละ ๙๐.๐๐ อิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผลต่อการเสริมแรงใจ
ตามหลักพุทธจิตวิทยา โดยมีขนาดอิทธิพลเท่ากับ ๑.๑๓ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
Download |