การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแรงจูงใจตามหลักอิทธิบาท ๔ ที่มีต่อการเรียนบาลีของพระภิกษุสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์
๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับแรงจูงใจตามหลักอิทธิบาท ๔ ของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อการเรียนบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตาม อายุ ระดับการศึกษาทางโลก และระดับการศึกษาทางธรรม ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างแรงจูงใจตามหลักอิทธิบาท ๔ ของพระภิกษุสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์
โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงพรรณนาโดยการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นพระภิกษุและสามเณร จำนวน ๒๘๙ รูป แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ/ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
เพื่ออธิบายความแตกต่างลักษณะของกลุ่มประชากรในกรณีตัวแปรต้นมากกว่าสองกลุ่ม จะทำการทดสอบด้วยค่าสถิติทดสอบเอฟ (F-test) ถ้าพบความแตกต่างจะทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) ส่วนการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Quality Research) ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน ๘ รูป โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) สรุปและนำเสนอด้วยการบรรยาย
ผลการวิจัย พบว่า
๑. แรงจูงใจตามหลักอิทธิบาท ๔ ของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อการเรียนบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์มี ๘ ด้าน ได้แก่ ๑) ใช้ความกระตือรือร้นและตื่นเต้น
๒) การตั้งเป้าหมายให้สูง ๓) การสร้างทางเลือก ๔) สร้างความรับผิดชอบ ๕) เน้นเสริมแรงด้านบวก ๖) เน้นการเรียนแบบร่วมมือ ๗) เน้นการให้กำลังใจ ๘) ยึดกฎและกติกา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านเน้นเสริมแรงด้านบวกส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านการตั้งเป้าหมายให้สูง
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับแรงจูงใจตามหลักอิทธิบาท ๔ ที่มีต่อการเรียนบาลีของพระภิกษุสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์ทั้ง ๘ ด้าน พบว่า พระภิกษุสามเณรที่มีอายุ ระดับการศึกษาทางโลกและระดับการศึกษาทางธรรมต่างกัน มีระดับแรงจูงใจตามหลัก
อิทธิบาท ๔ ต่อการเรียนบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ค่า .๐๕ จึงเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ข้อเสนอแนะแนวทางการสร้างแรงจูงใจตามหลักอิทธิบาท ๔ ของพระภิกษุสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า แนวทางการสร้างแรงจูงใจทั้ง ๘ ด้าน มีดังนี้
๑) ด้านการใช้ความกระตือรือร้นและตื่นเต้น ควรมีการใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นอยากจะที่สอบผ่านในแต่ละชั้นเปรียญ ๒) ด้านการตั้งเป้าหมายให้สูง ต้องชี้แจงให้ผู้เรียนพระบาลีให้รับรู้รับทราบว่า การเรียนบาลีมีจุดประสงค์ จุดหมาย ปลายทางที่อะไร เพื่อให้ผู้เรียนมีเป้าหมายของตน ๓) ด้านการสร้างทางเลือก ควรที่จะได้รับการสนับสนุนการจัดการศึกษาและช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ ๔) ด้านการสร้างความรับผิดชอบ ต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบอยู่เสมอ
๕) ด้านการเน้นเสริมแรงด้านบวก จะเป็นการเน้นที่สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของนักเรียน เช่นห้องเรียน ที่พักอยู่อาศัยต้องมีความเป็นสัปปายะต่อการศึกษาเล่าเรียน ต้องมีความสงบไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิของผู้เรียน เป็นต้นและการให้กำลังใจและกำลังกาย ๖) ด้านการเน้นการเรียนแบบร่วมมือ ควรมีข้อตกลง หรือระเบียบข้อปฏิบัติในห้องเรียนหรือนอกห้องที่ชัดเจน ๗) ด้านการเน้นการให้กำลังใจ ผู้บริหารของสำนักเรียน ตลอดจนครูอาจารย์ผู้สอนควรส่งเสริมผู้เรียนและให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอและ
๘) ด้านการยึดกฎและกติกา กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดการต่าง ๆ ที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของสำนักเรียนควรมีความยืนหยุ่น และความเหมาะสมที่เป็นแบบแผนหนึ่งเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อที่นักเรียนจะได้ไม่เกิดการเปรียบเทียบจนก่อให้เกิดผลต่าง ๆ ที่ตามมา
Download |