การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณกับการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๓๗๙ คน โดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิตที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ความคิดเห็นต่อการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ พบว่า โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้าน อยู่ในระดับปานกลาง
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า นักเรียนที่มีเพศ และชั้นปีที่ศึกษา ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ โดยรวมไม่แตกต่างกัน
๓. ข้อเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ พบว่า การพัฒนาจริยธรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๖ ควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งสู่การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม คือ การเน้นวิถีชีวิตของเด็ก ตั้งแต่เรื่องการกิน อยู่ ดู ฟัง ไปจนกระทั่งเรื่องการพัฒนาทักษะทั้งในการด้านการใช้ร่างกาย การคิด การกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ได้ แก่ การนำเด็กเข้าสู่ประสบการณ์ตรงในวิถีปฏิบัติของชาวพุทธ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนา การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การให้เด็กเป็นผู้บริการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การบริการครู บริการผู้อาวุโสหรือแขกผู้ ใหญ่ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียน การล้างจานให้เพื่อน การปลูกผักรับประทานเอง การประกอบอาหาร หรือการใช้ศิลปะ ดนตรี เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็ก การเล่านิทานที่มีเนื้อหาสอดแทรกคติธรรม และการจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้เด็กตระหนักต่อความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกรอบตัว ทั้งนี้ ครูหรือผู้สนใจที่ต้องการปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็ก จำเป็นจะต้องศึกษาแนวคิดสำคัญของคุณธรรมเหล่านั้นให้เข้าใจอย่างแท้จริง คำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก และความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกันออกไป ตามพื้นฐานของเด็กและสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นสำคัญ แล้วจึงนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทหรือหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ ในโรงเรียน ครูจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตนในฐานะกัลยาณมิตรของเด็ก ถือเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งจำเป็นจะต้องฝึกหัดขัดเกลาตนเอง เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งฝึกฝนพิจารณาใคร่ครวญถึงคุณค่าแท้ของคุณธรรมที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับเด็กอย่างแท้จริง จึงจะสามารถนำกระบวนการดังกล่าวไปใช้อย่างได้ผล
Download
|