การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณกับการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน ๓๑๗ คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติวิเคราะห์ คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และใช้สถิติวิเคราะห์หาค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
ความคิดเห็นต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้าน อยู่ในระดับมาก
ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ผู้ปกครองมีเพศ ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยรวม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนผู้ปกครองที่มีอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือน ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยรวม ไม่แตกต่างกัน
ข้อเสนอแนะต่อการบริหารแหล่งเรียนรู้ตามหลักสัปปายะ ๔ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า ๑) ด้านอาวาสสัปปายะ (สบายการอยู่) โรงเรียนให้ความสนใจดูแลเกี่ยวกับแสงสว่างในห้องเรียนอยู่เสมอ และจะต้องมีอาคารที่ตั้งเหมาะสมและแข็งแรง ปลอดภัย โดยเอื้อต่อการจัดการศึกษา ๒) ด้านอาหารสัปปายะ (สบายการกิน) โรงเรียนได้จัดทำความสะอาดโรงอาหารให้มีความสะอาดถูกหลักอนามัยและได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และจัดอาหารมีความสด สะอาด ปลอดภัย ถูกตามหลักโภชนาการ มีคุณค่าทางสารอาหารเพียงพอ ๓) ด้านบุคคลสัปปายะ (สบายการคบคน) โรงเรียนสนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ที่ให้แก่ครูและนักเรียนอยู่เสมอ ตลอดถึง ครูให้ความดูแลและติดตามความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างใกล้ชิดโดยให้ความรักเมตตาและเอาใจใส่แก่นักเรียนอย่างทั่วถึง และ๔) ด้านธรรมสัปปายะ (สบายการเรียนรู้) โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานสิ่งแวดล้อมภายในสถานศึกษา รวมถึงครูพูดให้กำลังใจเสริมแรงแก่นักเรียนที่สามารถปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมาย
Download |