การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพ เปรียบเทียบ และเสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้ด้านจริยธรรมของนักเรียน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน จำนวน ๑๘ คน และครูผู้สอน จำนวน ๑๗๓ คน จากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งได้จากการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครซี่ และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) โดยการสุ่มแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าความถี่ และหาค่าร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบด้วยค่าที (t-test independent) และการทดสอบเอฟ (F-test)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการจัดการเรียนรู้ด้านจริยธรรมของนักเรียน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น พบว่า โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เรียงจากมากไปหาน้อย ได้ ดังนี้ ๑) ด้านการอบรมสั่งสอน ๒) ด้านการจัดการเรียนรู้ ๓) ด้านการจัดกิจกรรมของโรงเรียน ๔) ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ตามลำดับ
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับการปฏิบัติต่อการจัดการเรียนรู้ด้านจริยธรรมของนักเรียน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน และเมื่อแยกเป็นรายด้าน ด้านการจัดการเรียนรู้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนที่มีประสบการณ์การทำงานต่างกัน ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน เมื่อแยกเป็นรายด้าน ด้านการอบรมสั่งสอน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ประสบการณ์ทำงานระยะไม่เกิน ๕ ปี มีระดับการปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ด้านจริยธรรมของผู้เรียนน้อยกว่าประสบการณ์ทำงานระยะ ๑๑ ปีขึ้นไป
๓. แนวทางการจัดการเรียนรู้ด้านจริยธรรมของผู้เรียน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น พบว่า ๓.๑) ด้านการอบรมสั่งสอน ต้องสั่งสอนให้นักเรียนมีความประพฤติที่ดี มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น และส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีอย่างรอบด้าน คือ กาย ใจ ปัญญา อย่างสม่ำเสมอ ๓.๒) ด้านการจัดกิจกรรมของโรงเรียน พบว่าต้องมีการจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน และกัน ๓.๓) ด้านการจัดสภาพแวดล้อมโรงเรียน พบว่าควรจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นสัดเป็นส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนให้มากขึ้น จัดให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน และใช้พื้นที่ในโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ และเขียนป้ายพุทธภาษิต ติดตามต้นไม้ เพื่อให้นักเรียนได้อ่าน ๓.๔) ด้านการจัดการเรียนรู้ พบว่าควรจัดการเรียนรู้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น PBL (Problem Based Learning or Project Based Learning), การจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม (Head Hands Harts) เป็นต้น
Download |