การวิจัยเรื่องศึกษาวิเคราะห์สันติวัฒนธรรมเชิงพุทธของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ (รัฐฉาน) ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาบริบทประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ (รัฐฉาน) ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดสันติวัฒนธรรมเชิงพุทธในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ๓) เพื่อศึกษากระบวนทัศน์สันติวัฒนธรรมเชิงพุทธของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ (รัฐฉาน) ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research ) แบบชาติพันธุ์พรรณนา สำรวจภาคสนาม โดยใช้การรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก ( Dept - interview ) และการให้ข้อมูลแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบบมีโครงสร้าง จากผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ๒๕ รูป/คน และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ผู้เชี่ยวชาญ ๙ ท่าน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) นำเสนอข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนา เพื่อจัดหมวดหมู่ของเนื้อหา (Category) แล้วนำมาสังเคราะห์เชิงระบบ (Systematic synthesis) เพื่อหาประเด็นร่วมหรือประเด็นหลักและอธิบายเนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
๑) กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ (รัฐฉาน) มีวิถีชีวิตประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวล้านนาไทย ของประเทศไทย ศรัทธาและ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อย่างลึกซึ้ง มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษาพูด และพยัญชนะเป็นของตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ราบรื่นกับรัฐบาลทหารเมียนม่าร์ (ในฐานะชนชั้นผู้ปกครอง) ทั้งยังตกอยู่ภายใต้กระแสการถูกกลืนทางวัฒนธรรม ผ่านกลไกต่าง ๆ ของรัฐมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ผู้นำชาติพันธุ์ไทใหญ่ได้สร้าง “กลยุทธ์” ทางวัฒนธรรม โดยอาศัยเครื่องมือที่สำคัญ คือ “ตำนาน” ผ่านองค์กรท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ ด้วยวิธีพยายามสถาปนาสัญลักษณ์ขึ้นหลายอย่าง เช่น การฟื้นฟู มหรสพแห่งความสุข “เพลงจ๊าดไต” เพื่อปลูกจิตสำนึก รักถิ่นฐาน เจ้าเสือข่านฟ้า” ในฐานะวีรบุรุษผู้กล้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างมหาอาณาจักรไทใหญ่คลอบคลุมพม่าภาคเหนือทั้งหมด
๒) แนวคิดทฤษฎีสันติวัฒนธรรมได้ถูกนำมาใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ตามนโยบายสำคัญ กล่าวคือ “วัฒนธรรมนำชาติ” โดยนำการศึกษามาเป็นแนวทางในการพัฒนา และมีการบูรณาการหลักการและเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง ความว่า “พุทธสันติวิธี” คือ แนวทาง “ มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ ทางสายกลาง ที่เป็นกลางบนฐานความรับผิดชอบและการตัดสินใจร่วมกันร่วมกัน
๓) ทฤษฎีสันติภาพ ซึ่งมีฐานจากวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ (รัฐฉาน) มาเชื่อมโยงกับหลักพุทธศาสนา ได้แก่ ปธาน ๔ สาธารณียธรรม ๖ และ พรหมวิหาร ๔ ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
บทสรุป การศึกษาวิจัยฯ วัฒนธรรมไทใหญ่ (รัฐฉาน) ยังได้คลอบคลุม บริเวณภาคเหนือตอนบน(บางส่วน) ของประเทศไทย เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ที่มีชาวไทใหญ่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน อย่างเนืองแน่น ภายใต้บริบท เงื่อนไขทางสังคม การเมือง ซึ่งมีพื้นฐานทางภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมในบางมิติร่วมกันตั้งแค่ครั้งโบราณ ผู้วิจัย ฯ “จงใจ” และ พยายามทำหน้าที่สร้าง “ภาพต่อ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของการศึกษา และ คาดหวังจะสามารถ ช่วย ฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทใหญ่ (รัฐฉาน) ได้ภายใต้ คุณสมบัติที่มัก “ลื่นไหล” ตามปกติวิสัยของธรรมชาติ และด้วยวิธีการผสานธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ได้รับจากวิถีทางพุทธศาสนา บนสมมุติฐานที่ว่า “วัฒนธรรม” สามารถเอื้อต่อกันในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในสังคมพหุวัฒนธรรมของรัฐฉาน
โดยเฉพาะหากมุ่งประเด็นที่วัฒนธรรม เชิงพุทธ จึงควรเริ่มที่ใจคน คือ ใจปัจเจกชน และ ใจหมู่ชน เป็นสำคัญในธรรมบท วรรคที่ ๒๐๒ พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุขใดอื่นเหนือความสงบ สันติไม่มี หมายถึง ภาวะของจิต ที่ปลอดจากอารมณ์ และความคิดที่กดขี่ เป้าหมายก็คือ การบรรลุถึงสภาวะ “สันติสุข” นั่นเอง.
Download |