ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและกระบวนการไกล่เกลี่ย ข้อพาทของผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 2 2) ศึกษากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักพุทธสันติวิธี 3) เสนอกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักพุทธสันติวิธีของผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 2 การศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาจากเอกสาร (Documentary Research) และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีแรงงานของศาลแรงงานภาค 2
ผลการศึกษา
1. พบปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพาทของผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 2 ได้แก่ คู่ความไม่สมัครใจเข้าร่วมไกล่เกลี่ย ทักษะของผู้พิพากษาสมทบในการไกล่เกลี่ย คู่ความเลือกใช้วิธีการไกล่เกลี่ยเพื่อประวิงเวลาในการดำเนินคดี และปัญหาจากบุคคลภายนอก
2. หลักพุทธสันติวิธีที่ใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ “สติ ขันติ สันติ” บูรณาการร่วมกับ“องค์ประกอบของธรรม” ได้แก่ หลักอริยสัจ หลักอคติ หลักพรหมวิหาร และหลักสัปปุริสธรรม ในการเสริมกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
3. นำเสนอกระบวนการการไกล่เกลี่ยเชิงพุทธ ด้วยวิธีบูรณาการให้สอดรับกับสภาพปัญหาความขัดแย้งของศาลแรงงานภาค ๒ ที่เน้นจากข้างใน โดยการพัฒนาสติเป็นฐานแล้วออกไปสู่การไกล่เกลี่ยของคู่ความ ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) เตรียมความพร้อมและลดภาวะอารมณ์ 2) วิเคราะห์และค้นหาสาเหตุข้อพิพาท 3) จัดการปัญหาความขัดแย้ง 4) หาทางออกหรือข้อตกลงร่วมกันใน การแก้ปัญหาและขจัดอุปสรรค เพื่อส่งผลให้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลแรงงานภาค 2 ประสบความสำเร็จ คู่ความมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดไป
Download
|