หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุวรรณี ฮ้อแสงชัย
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
รูปแบบการเสริมสร้างความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองเพื่อป้องกัน พฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของเยาวชนโดยพุทธสันติวิธี (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : สุวรรณี ฮ้อแสงชัย ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บรรพต ต้นธีรวงศ์
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร)
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษารูปแบบการเสริมสร้างความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของเยาวชนโดยพุทธสันติวิธี  การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองที่เชื่อมโยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของเยาวชน (๒) เพื่อศึกษารูปแบบการเสริมสร้างความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายตามหลักวิทยาการสมัยใหม่และหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการเสริมสร้างความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของเยาวชนโดยพุทธสันติวิธี

             การศึกษาครั้งนี้ พบว่า พฤติกรรมการฆ่าตัวตายของเยาวชน เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก  สำหรับปัจจัยภายใน ได้แก่ ความคิดและทัศนคติที่มีผลต่อจิตใจต่อปัจเจกบุคคล ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย สังคม และสภาพแวดล้อม  ดังนั้น ด้านหนึ่งจึงศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ทางตะวันออกของพุทธศาสนาเถรวาทและอีกด้านหนึ่งศึกษาศาสตร์ทางตะวันตกมาประยุกต์เป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เสริมสร้างความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองให้กับเยาวชน

             ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้ คือ พุทธสันติวิธี การนำ ๓ หลักธรรม ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ และพละ ๕ ที่เป็นหลักพุทธของตะวันออก กับการสร้างความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองของตะวันตก มาบูรณาการร่วมกัน ได้เป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ประกอบด้วย หลักการ วิธีการ กระบวนการและขั้นตอน โดยใช้สติเป็นฐาน ทำให้เกิดปัญญา เมื่อพละ ๕ ทำงาน จึงส่งผลต่อบุคลิกภาพของนักศึกษาแต่ละคนที่เปลี่ยนอย่างชัดเจน เช่น มีสติมากขึ้น เชื่อมั่นในตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มากขึ้น

             ข้อสรุปของงานวิจัยนี้ คือ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์นี้ เป็นรูปแบบที่ประกอบด้วย ๔ กระบวนการ ได้แก่ (๑) มีสติ รู้ทันความคิด (๒) ควบคุมตนเองได้ (๓) นำไปสู่ปัญญา (๔) วิถีธรรม สู่วิถีสุข  กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์นี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดลองกับกลุ่มนักศึกษาจำนวน ๒๕ คน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยกระบวนการทดลองฝึกอบรม มีการสัมภาษณ์เชิงลึก แบบทดสอบ และแบบสอบถาม แสดงผลค่าความคิดเห็นความตระหนักรู้คุณค่าในตนเอง หลังทดสอบ มากกว่า ก่อนทดสอบ จึงสรุปได้ว่า เมื่อเยาวชนผ่านกระบวนการและขั้นตอนนี้แล้ว จะทำให้เยาวชนเกิดความตระหนักรู้คุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้การฆ่าตัวตายลดลง

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕