ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ ๑) เพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะผู้นำชุมชนเพื่อสันติภาพที่พึงประสงค์ ๒) เพื่อศึกษาคุณลักษณะผู้นำชุมชนเพื่อสันติภาพในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อนำเสนอคุณลักษณะของผู้นำชุมชนเพื่อสันติภาพในสังคมไทยปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างในการทำวิจัย มี ๒ กลุ่ม รวม ๒๔ ท่าน ประกอบด้วยกลุ่มผู้นำในสังคมไทยจำนวน ๑๒ ท่านและกลุ่มผู้นำชุมชน ๒ ชุมชน จำนวน ๑๒ ท่าน นำเสนอข้อมูลในเชิงพรรณนา ตรวจสอบและยืนยันองค์ความรู้ด้วยการสนทนากลุ่มเฉพาะ(Focus group Discussion) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๖ ท่าน
ผลการวิจัยพบว่า
๑) คุณลักษณะผู้นำชุมชนเพื่อสันติภาพที่พึงประสงค์ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำที่ฝักใฝ่ทางธรรมและผู้นำชุมชนที่มุ่งสร้างสันติภาพ ๒ ชุมชน รวมถึงศึกษาคุณลักษณะของนักสันติภาพ พบว่าคุณลักษณะผู้นำชุมชุนเพื่อสันติภาพที่พึงประสงค์ ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีการสร้างแรงจูงใจและปลูกจิตสำนึกเชิงจริยธรรม และมุ่งพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นกิเลส
๒) คุณลักษณะผู้นำชุมชนเพื่อสันติภาพในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ควรมีวิธีการพัฒนาทั้งภายในตนและภายนอกตนอย่างเป็นขั้นตอนเริ่มจากภายนอกตนไปสู่ภายในตนเองด้วยการศึกษาหลักไตรสิกขาคือ ศีล ๕ สมาธิ ปัญญาด้วยการพัฒนาคุณลักษณะ ๓ ด้าน คือ ๑) ศีลภาพ ๒) จิตภาพ และ ๓) ปัญญาภาพ
๓) นำเสนอคุณลักษณะของผู้นำชุมชนเพื่อสันติภาพที่พึงประสงค์ในสังคมไทยปัจจุบัน ตามกรอบคุณลักษณะ ๔ ด้าน คือ ๑) บุคลิกดี ประกอบด้วย การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ วางตัวเหมาะสมกับกาลเทศะ ยิ้มแย้ม แจ่มใส กิริยาสุภาพ แต่งกายสะอาด เรียบร้อย๒) พฤติกรรมดี ประกอบด้วย ผู้นำมีศีล ๕ ครบทุกข้อ ความมีวินัย สัจจะวาจา มีสัมมาอาชีพ ๓) จิตใจดี ประกอบด้วย มีเมตตา กรุณา มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน ควบคุมอารมณ์ได้ คุณธรรม จริยธรรม และ ๔) ปัญญาดี ประกอบด้วย รู้แจ้งทันโลก ปรับตัวเก่ง กล้าหาญ อดทน สันโดษ
Download |