หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สิตา จุลวานิช
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
สตรีกับสังคมสงฆ์: ศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของสตรีต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : สิตา จุลวานิช ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ
  ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ เมษายน ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒) เพื่อศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของสตรีต่อการพัฒนาพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมของสตรีต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยานิพนธ์นี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) แบบภาคสนามโดยการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม จำนวน ๒๑ รูป/ท่าน

ผลการวิจัยพบว่า    

              ๑) สตรีมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นร่วมสละทรัพยากรส่วนตน หรือสละแรงกาย แรงใจ สตรีในฐานะอุบาสิกาต้องเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ๕  สตรีในพระพุทธศาสนานั้นมีหลายท่านที่โดดเด่นที่สตรีชาวพุทธในปัจจุบันควรถือเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พระนางมหาปชาบดีโคตมี นางวิสาขามหาอุบาสิกา พระปฏาจาราเถรี นางสุปปวาสา และพระนางสามาวดี ซึ่งทั้งหมดนี้มีบทบาทการมีส่วนร่วม การส่งเสริม พัฒนาพระพุทธศาสนา กล่าวโดยรวมคือเป็นต้นแบบที่เกิดจากรูปแบบแนวทาง ๔ ลักษณะ คือ บทบาทการให้ บทบาทการพูดเจรจา บทบาทการเสียสละ และบทบาทการปฏิบัติตนที่เหมาะสม

              ๒) การพัฒนาคือการดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งบรรพชิต คฤหัสถ์บุรุษ และสตรี โดยให้สิทธิเท่าเทียมกัน มาร่วมกันในการวางแผนพัฒนา กำหนดนโยบาย ตัดสินใจ และร่วมรับผิดชอบดำเนินกิจกรรม ด้านการบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมีโครงสร้างการบริหารงานของส่วนกลางและวิทยาเขต อำนาจหน้าที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๔๐ มีการแบ่งส่วนงานมุ่งพัฒนาตามพันธกิจ ๕ ด้าน คือด้านการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านงานบริการวิชาการแก่สังคม ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล

          ๓) จากการวิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมของสตรีต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พบว่าสตรีเข้ามามีส่วนร่วมที่แตกต่างกันเป็นไปตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย ๕ ด้าน คือ ๑. การผลิตบัณฑิต ๒. วิจัยและพัฒนา ๓. ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม และ ๔. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ๕. ด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และด้วยศักยภาพของสตรีเกิดการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ จุดแข็งของสตรีคือเรื่องการสื่อสาร ความละเอียดรอบคอบ โอกาสที่ดีของการมีส่วนร่วมของสตรีคือรูปแบบการสอน การสร้างวัฒนธรรม การวางตัวเหมาะสม ความสะดวกคล่องตัวในการหาทุนจากภายนอก จุดอ่อนคือเรื่องภาพลักษณ์การมองของสังคม กาลเทศะ การรักษาระยะห่างที่เกิดจากความคุ้นเคย ส่วนอุปสรรคของของสตรีคือข้อจำกัดของพระธรรมวินัย โอกาสในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ และลักษณะทางกายภาพเป็นจุดเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ สตรีควรได้รับการส่งเสริมทางด้านฐานความรู้เชิงวิชาการ โอกาสในการออกไปทำกิจกรรมในสังคม สวัสดิการด้านต่าง ๆ และความชัดเจนในสถานะ สตรีที่ทำงานในมหาวิทยาลัยสงฆ์ควรยึดหลักคารวตา สังคหวัตถุ ๔ พรหมวิหาร ๔ โยนิโสมนสิการ อิทธิบาท ๔ หลักความเป็นกัลยาณมิตร และศีล ๕     

 

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕