การศึกษาเรื่องการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธ: กรณีศึกษา หมู่บ้านสลักคอก
อ. เกาะช้าง จ.ตราด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑) แนวคิดการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ๒) การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธ และ ๓) รูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธ
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประกอบด้วยงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participatory Observation) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) จำนวน ๙ คนประกอบด้วยนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้าน ผู้ประกอบการนำเที่ยว นักท่องเที่ยว ร้านค้าในชุมชน พระ หน่วยงานของรัฐ นำเสนอข้อมูลโดยพรรณนาเชิงวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนสลักคอกเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม มีรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวชุมชนสลักคอกที่ดำเนินงานด้วยการมีแนวคิดการอนุรักษ์การมีส่วนร่วม การพึ่งตนเอง ด้วยการขับเคลื่อนของผู้นำชมรมและสมาชิกชมรมบนฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ชุมชนมีอยู่ ผ่านกระบวนการบริหารจัดการชมรม การจัดกิจกรรมท่องเที่ยว การจัดการผลประโยชน์ การจัดการเรียนรู้ การเชื่อมโยงสู่ชุมชน และการจัดการเครือข่ายความร่วมมือ ได้มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาชุมชนสลักคอกให้มีความเข้มแข็ง มีการดำเนินการท่องเที่ยวในกระแสของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีกระบวนการจัดการการท่องเที่ยวเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิง อนุรักษ์จากกระแสของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนและท้องถิ่นที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งท่องเที่ยว มีการดำเนินการเป็นขั้นตอนโดยคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีรูปแบบดังนี้ (๑) การเตรียมความพร้อมของชุมชน (๒) การจัดกิจกรรมการสร้างการเรียนรู้ การตระหนักและเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตดั้งเดิมและวัฒนธรรม โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน (๓) การปฏิบัติการพัฒนา การส่งเสริม และการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นโดยผ่านกิจกรรมท่องเที่ยว (๔) การประเมินผล (๕) อัตลักษณ์ของพื้นที่ของชุมชนสลักคอก คือ การมีประวัติศาสตร์เฉพาะของชุมชน ภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม ความเรียบง่ายและความงดงามของวิถีชีวิตและพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาและความเชื่อ
พุทธจริยธรรมที่เกี่ยวข้องการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ประกอบด้วย ๑) สัปปายะ ๒) ภาวนา ๔ ๓) สาราณียธรรม ๖ เป็นหลักพุทธธรรมที่ส่งผลในการปฏิบัติของกลุ่มคนในชุมชนที่ได้ยึดหลักร่วมกันในการดูแลพื้นที่ถิ่นอาศัย ทั้งกระบวนการคิด การปฏิบัติ ซึ่งช่วยเกื้อกูลในการทำงานร่วมกัน ดำเนินในทางที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดนี้ การเป็นชุมชนเข้มแข็งต้องเป็นชุมชนที่ตัดสินใจได้อย่างเป็นอิสระ และส่งผลให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน การพัฒนาสังคม สร้างความสัมพันธ์ของคนและสังคม และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์กันของบุคคลที่กระทำด้วยคุณธรรมต่อหมู่คณะและสิ่งแวดล้อมที่ได้อาศัย ก่อให้เกิดผลคือ สันติสุขในการอยู่ร่วมกัน เคารพเกื้อกูลกัน สร้างความไพบูลย์แก่สังคม เป็นกระบวนการที่ต้องการให้เห็นความเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยความรัก ความเมตตา การเกื้อกูลต่อกันของสรรพสิ่ง โดยใช้ชีวิตอยู่สัมพันธ์กับธรรมชาติ
Download |