วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาไตรสิกขาที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาหลักการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของไตรสิกขากับการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา ผลการศึกษาวิจัย พบว่า
ไตรสิกขาเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการฝึกอบรมจิตจนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงจนบรรลุธรรม ในพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ไตรสิกขาเป็นหลักธรรมสำคัญที่ทำให้มนุษย์ในการศึกษาและพัฒนาตนเองให้เจริญงอกงามในชีวิตและสังคมอย่างมีสันติภาพ มีความสงบสุข และเป็นอิสรภาพปราศจากการบีบบังคับ ในที่สุดก็สำเร็จเป้าหมายตาม ที่ต้องการ ไตรสิกขา ประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา หรืออธิสีลสิกขา อธิจิตต สิกขา และอธิปัญญาสิกขา ไตรสิกขาจัดอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ควรเจริญ
จากการศึกษาหลักการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การบรรลุธรรม หมายถึง การเข้าถึงโลกุตตรธรรม ๙ การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ด้วยการเจริญกรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม การเจริญกรรมฐานเป็นการพิจารณา รูปนามที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงทุกขณะอย่างต่อเนื่อง จนผู้ปฏิบัติเห็นจริงในสภาวะนั้นตามไตรลักษณ์ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าวิปัสสนาญาณก็จะปรากฏให้เห็นหนทางแห่งมรรคผลจนสามารถบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล ในพระพุทธศาสนาจำแนกอริยบุคคลออกเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
ความสัมพันธ์ของไตรสิกขากับการบรรลุธรรม พบว่า ไตรสิกขามีความสัมพันธ์กันภายในระหว่างศีล สมาธิ และปัญญา คือ ศีลเป็นรากฐานให้กับสมาธิเพื่อชำระใจให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลและสมาธิบริสุทธิ์แล้ว ก็จะเป็นกำลังทำให้เกิดปัญญาจนสามารถบรรลุธรรมได้ แต่การจะบรรลุธรรมได้นั้นจะต้องปฏิบัติตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์โดยมีศีล สมาธิ และปัญญา จึงกล่าวว่าเป็นการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่นำไปสู่การบรรลุธรรมด้วยไตรสิกขา
Download |