การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสิงห์บุรี ๒. เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนในการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสิงห์บุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓. เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสิงห์บุรี
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๖๒ สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน ๓ อำเภอ ของจังหวัดสิงห์บุรี จำนวน ๓๘๐ คน จากประชากรทั้งหมด ๗,๔๒๒ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๑๒ คน ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสิงห์บุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( = ๓.๗๒) เมื่อจำแนกเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน ได้แก่) ๑) ด้านการบรรเทา ( =๓.๗๗) ๒) ด้านการเตรียมการ
( = ๓.๖๓) ๓) ด้านการสู้ภัย ( =๓.๗๓) และ ๔) ด้านการฟื้นฟู ( = ๓.๗๖)
๒. เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนในการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสิงห์บุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มีอาชีพ และรายได้ต่อเดือน ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัย โดยภาพรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย ส่วนประชาชนที่มีเพศ อายุ และระดับการศึกษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัย โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓. แนวทางการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสิงห์บุรี คือ ๑) ด้านการบรรเทาเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำหลากท่วมในระดับลุ่มน้ำ ควรทำการจัดการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบนและการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ตอนบน สำหรับในจังหวัดสิงห์บุรีต้องมีการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองสิงห์บุรี เทศบาลตำบล ๓ แห่ง (อินทร์บุรี ปากบาง และบางน้ำเชี่ยว) อย่างถาวร ๒) ด้านการเตรียมการ ควรทำการปรับปรุงฟื้นฟูหนองบึงธรรมชาติในพื้นที่ โดยการปรับปรุงระบบระบายน้ำ เช่น ทำการขุดลอกระบายคู คลองน้ำ และควรมีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ในจังหวัด ๓) ด้านการสู้ภัยเป็นการดำเนินในช่วงขณะเกิดภัย ควรมีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ประสบภัยกับเจ้าหน้าที่ สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับอบต.ในการแก้ไขปัญหา และควรมีอาสาสมัครด้านอุทกภัย ๔) ด้านการฟื้นฟูเป็นการจัดการหลังเกิดภัย ควรมีการใช้หลักเกณฑ์ความเสียหายที่เป็นจริงมาประเมินให้ความช่วยเหลือ โดยประชาชนจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขจะทำให้ปัญหาต่างๆลดน้อยลง และควรดำเนินการให้เอกชนหรือมีหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเข้ามาบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
Download |