งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑. เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปในการบริหารจัดการ สภาพระนักเผยแผ่ จังหวัดเพชรบุรี ๒. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับรูปแบบการบริหารจัดการสภาพระนักเผยแผ่ จังหวัดเพชรบุรี และ ๓. เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี
การวิจัยเป็นแบบผสานวิธีด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๑๘ รูปหรือคนและสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus croup Discussion) จำนวน ๑๒ ท่าน โดยวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา และการวิจัยเชิงปริมาณได้แจกแบบสอบถามกลุ่มประชากรตัวอย่างและผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ พระสังฆาธิการและพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๓๕๐ รูปหรือคน วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหา ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพทั่วไปเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี โดยภาพรวมคือ ๑) ด้านบุคลากร สภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี มีพระสงฆ์ที่ความรู้ความสามารถในการทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก วัดและพระในจังหวัดเพชรบุรีมีเพียงพอกับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ พุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใส และให้การสนับสนุนพระสงฆ์ที่ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๒) ด้านงบประมาณ พระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกันบริจาคให้การสนับสนุน ด้วยการทอดผ้าป่าบ้าง บริจาคเป็นการส่วนตัวบ้าง เชิญชวนและทำการประชาสัมพันธ์ให้พุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ คณะอื่นร่วมบริจาคสมทบทุนด้วย ๓) ด้านวัสดุอุปกรณ์ พระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี มีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเพชรบุรี มีหอกระจายข่าวตามหมู่บ้านต่าง ๆ และมีสถานีวิทยุชุมชนเป็นอุปกรณ์การทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีศิลปะปูนปั้นตามวัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ๔) ด้านการบริหารจัดการ พระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรีสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสภาพระนักเผยแผ่ประจำจังหวัดเพชรบุรีได้ โดยการร่วมพระนักเทศน์ต้นแบบ พระนักเทศน์ประจำจังหวัด พระจริยานิเทศ, พระปริยัตินิเทศ, พระธรรมทูต, พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน พระครูสอนพระปริยัติธรรมพระวิปัสสนาจารไว้ด้วยกัน
๒. ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับรูปแบบการบริหารจัดการสภาพระ นักเผยแผ่ จังหวัดเพชรบุรี พบว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) แล้วพบว่ามีค่า ๐.๙๔๖ ซึ่งแสดงว่า ปัจจัยที่ส่งผล คือ หลักการเทศนาวิธี ๔ หน้าที่ของสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี มีความสัมพันธ์กัน และมีความสัมพันธ์กันในระดับมากและค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) แล้วพบว่ามีค่า ๐.๙๕๓ ซึ่งแสดงว่า ปัจจัยที่ส่งผล คือ หลักการบริหารจัดการ ๔ M กับหน้าที่ของสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี มีความสัมพันธ์กัน และมีความสัมพันธ์กันในระดับมาก
๓. รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี มีดังนี้คือ ๑) ด้านบุคลากร สภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรีมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสภาขึ้นมามีคณะกรรมการบริหารและมีสมาชิกสภาที่เป็นพระนักเผยแผ่แผนกต่างๆรวมอยู่ในสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี ๒) ด้านงบประมาณของสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี สภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี มีงบประมาณจากผู้มีศรัทธาทั่วไป คณะสงฆ์ร่วมกันจัดตั้งกองทุนด้วยการทอดผ้าป่าทุกวันที่ ๑๑ ของเดือนกันยายนของทุกปีและมีทุนจำนวน ๔ ล้านเศษฝากไว้กับธนาคาร และทุนจากมูลนิธิ, องค์กรต่างๆ หรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ ทุนจากบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้ความอุปถัมภ์และทุนที่สภาจัดหามาด้วยความชอบธรรม ๓) ด้านวัสดุอุปกรณ์ของสภาพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบุรี พระนักเผยแผ่อาศัยวัสดุที่มีอยู่ภายในวัด เช่น พระพุทธรูปและข้อวัตรปฏิบัติของพระนักเผยแผ่ฯ อาศัยศาสนสถานงานศิลปะปูนปั้น งานจิตกรรมฝาผนังและโบราณสถาน กลองระฆัง และศาลากลางหมู่บ้านในเขตที่วัดตั้งอยู่เป็นที่ทำการเผยแผ่ฯ และมีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเพชรบุรี คลื่น FM ๙๕.๗๕ MHz ๔) ด้านการพัฒนาการบริหารจัดการสภาพระนักเผยแผ่จังหวัดเพชรบุรี ด้านการบริหารจัดการต้องประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายบริหารต้องให้ความร่วมมือในการพัฒนาโดยบูรณาการในด้านการบริหารจัดการที่เหมาะสมในรูปแบบที่น่าสนใจและเป็นที่พึงพอใจของพระนักเผยแผ่ฯและพุทธศาสนิกชน
Download |