การวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑.เพื่อศึกษาการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ๒.เพื่อศึกษาความคิดเห็นของพระสงฆ์สามเณรต่อ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และ ๓.เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อประสิทธิภาพในการบริหารการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสำรวจด้วยแบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๗๖ กับกลุ่มตัวอย่าง คือ พระภิกษุสามเณรในอำเภอบางพลี จำนวน ๑๐๔ รูป ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๘ รูป/คน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา สรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
๑.
พระภิกษุสามเณรมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
( = ๔.๒๔,S.D.=๐.๔๖๕ ) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน มากที่สุดคือ ด้านการวัดผลและประเมินผล ( =๔.๒๖,S.D.=๐.๕๐๑), รองลงมาคือ ด้านงบประมาณในการสนับสนุน ( =๔.๒๔,S.D.=๐.๕๑๐) และน้อยที่สุดคือ ด้านหลักสูตร ( =๔.๒๑,S.D.=๐.๔๙๐)
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของ พระภิกษุสามเณรที่มีวุฒิการศึกษานักธรรม ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย ส่วนพระภิกษุสามเณรที่มี สถานะ อายุ พรรษา และวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้
๓. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ของคณะสงฆ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการพบว่า ๑. ด้านหลักสูตร ยังไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย น่าสนใจเรียน ๒. ด้านการจัดการเรียนการสอน ยังมีการท่องรูปแบบทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน ๓. ด้านการวัดผลและประเมินผล มีการจัดสอบปีละหนึ่งครั้ง และยังขาดมาตรฐานในการตรวจข้อสอบ ๔. ด้านงบประมาณในการสนับสนุน ยังขาดปัจจัยในการพัฒนาและสนันสนุนการเรียนการสอน ดังนั้นจึงควรปรับปรุงหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ควรจัดให้มีการวัดผลและประเมินผลการเรียนปีละ ๒ ครั้ง และมีการสนันสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้เรียน เพิ่มนิตยภัตให้กับผู้สอน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ การพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนั้น ต้องมีการทำเป็นระบบเริ่มจากการวางแผนเปลี่ยนแปลงระบบการสอนให้มีประสิทธิภาพขึ้น จัดให้มีการเรียนการสอนที่ทันสมัย พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการสอนมากขึ้น มีการประเมินและวัดผลการเรียนปีละ ๒ ครั้ง เพื่อมิให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายและไม่สนใจเล่าเรียนภาษาบาลี จัดให้มีงบประมาณสนับสนุนการเรียนการสอนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้เรียนและผู้สอน
Download |