หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาปรีชา มโหสโถ (เส็งจีน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
อิทธิพลของวรรณคดีบาลีเรื่องปัญญาสชาดกที่มีต่อสังคมไทย (๒๕๔๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาปรีชา มโหสโถ (เส็งจีน) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาไพเราะ ฐิตสีโล
  พระประสิทธิื ธุรสิ ทฺ โธ
  ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๑
 
บทคัดย่อ

ในการศึกษาวิจัยอิทธิพลวรรณคดีบาลีเรื่องปัญญาสชาดกนี้ ผู้วิจัยมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของหนังสือปัญญาสชาดก เพื่อศึกษาถึงอิทธิพลของหนังสือปัญญาสชาดกที่มีต่อสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น สังคม วรรณกรรม วิถีชีวิตของคนไทยและนิทานพื้นบ้านของคนไทย  เป็นต้น และเพื่อศึกษาถึงกลการสอนธรรมของพระเถระที่ใช้รูปแบบของชาดกเป็นแนวทางในการสอนธรรมะ

          ผลของการศึกษาได้ข้อสรุปว่า
          ในส่วนประวัติการแต่ง ผู้แต่งและสถานที่แต่งปัญญาสชาดก ไม่ปรากฎชัดแน่นอนมีความเห็นหลากหลายออกไป การแต่งปัญญาสชาดกคงเขียนมาหลายสมัย ต่อมาได้มีพระภิกษุได้แต่งเข้าเป็นปัญญาสชาดก การรวบรวมเข้าเป็นชุดคงมีขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๒๐๐๐-๒๒๐๐ ผู้แต่งนั้นน่าจะเป็นพระภิกษุชาวเชียงใหม่  ส่วนสถานที่แต่งคงเป็นในบริเวณเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความรุ่งเรืองทางภาษาบาลี  สำหรับแนวการเขียน ผู้แต่งได้อาศัยแนวจากอรรถกถาชาดก และนำนิทานจากแหล่งต่าง ๆ มาอธิบายเป็น "ชาดก" ประกอบเรื่อง

          ในส่วนที่แสดงถึงอิทธิพลที่มีต่อสังคมนั้น พบว่า ปัญญาสชาดกมีอิทธิพลต่อการเผยแผ่ศาสนธรรม ทั้งในระดับความเชื่อ พิธีกรรม หลักธรรมระดับศีลธรรมและโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม ปัญญาสชาดกยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของสังคม โดยเป็นแหล่งบ่อเกิด "วิถีปฏิบัติ" ต่าง ๆ ของสังคมไทยมากมาย ทั้งส่วนที่เป็นวิถีปฏิบัติของชาวบ้าน และส่วนที่เป็นผลมาจากหลักการของพระพุทธศาสนา ส่วนในทางด้านที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทยและการละคร พบว่า มีชาดกอย่างน้อย ๒๑ เรื่องที่เป็น "ต้นแบบ" ของวรรณกรรมร้อยกรองของไทยจำนวน ๖๓ เรื่อง ปัญญาสชาดกยังเป็นต้นกำเนิดของบทละครในสมัยต่าง ๆ รวมทั้งเป็นต้นแบบเรื่องละครทางโทรทัศน์และรวมถึงเป็นภาพยนตร์ด้วย

          ในส่วนที่ว่าด้วยการศึกษาถึงวิถีการในการประกาศพระศาสนา ผู้วิจัยพบว่า ผู้แต่งปัญญาสชาดกได้ใช้วิธีการ และรูปแบบในการประกาศหลักคำสอนของพระศาสนาที่ฉลาดยิ่งนัก การนำนิทานเล่าโดยมีหลักธรรมสอดแทรก ทำให้ผู้ฟังได้รับคติธรรมไปพร้อมกัน โดยไม่เบื่อหน่าย

          ปัญญาสชาดกนับเป็น "แหล่งขุมทรัพย์" ที่ผู้รู้สามารถขุดหา "อาหารทางความคิด"    ในด้านต่าง ๆ ได้ทุกด้าน ไม่ว่าเพื่อความบันเทิง คติธรรม หลักศาสนา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หรืออื่นใด
 

Download : 254103.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕