การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง ๒. เพื่อเปรียบเทียบการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง
ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) โดยการวิจัยเชิงปริมาณกำหนดกลุ่มตัวอย่างได้แก่ พระสังฆาธิการในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ในระดับตำแหน่ง พระสังฆาธิการ จำนวน ๑๔๑ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม โดยมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ ๐.๗๗๗ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance : ANOVA) F-test ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informants) ๙ รูป/คน เลือกแบบเจาะจง จากผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือในการเก็บข้อมูลได้แก่แบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีโครงสร้าง(structured in-depth interview) เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวต่อตัว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนาความ (descriptive interpretation)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. พระสังฆาธิการในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มีความคิดเห็นต่อระดับการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย ๔.๒๗ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านแล้ว พบว่า ๑. ด้านนโยบาย อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ๔.๓๔ ๒. ด้านรูปแบบ อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ๔.๓๐ ๓. ด้านปฏิบัติงาน อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย ๔.๒๖ และ ๔. ด้านประเมินผลการปฏิบัติงาน อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย ๔.๑๖
๒. ผลการเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่า พระสังฆาธิการที่มีอายุ, อายุพรรษา, ตำแหน่งทางคณะสงฆ์, วุฒิการศึกษาปริยัติธรรม แผนกนักธรรม, วุฒิการศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลี, วุฒิการศึกษาปริยัติธรรม แผนกสามัญ, ที่ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง ของพระสังฆาธิการ ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงปฏิเสธข้อสมมติฐานการวิจัยที่ได้ตั้งไว้
๓. ปัญหา อุปสรรค คือ ๑) ด้านนโยบาย การบวชในปัจจุบันบางพื้นที่ไม่มีพระอุปัชฌาย์ จำเป็นต้องบวชที่อื่น ๆ ทำให้ยากต่อการดูแล ๒) ด้านรูปแบบ การอบรมสั่งสอนไม่มีรูปแบบที่แน่ชัดจากผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ ๓) ด้านการปฏิบัติงาน บางวัดไม่มีพระที่มีความรู้สามารถให้การอบรมผู้บวชระยะสั้นได้ ๔) ด้านประเมินผลการปฏิบัติงาน การติดตามประเมินผลทำได้ยาก การประเมินผลจึงไม่เห็นผลเท่าที่ควร ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์ จังหวัดอ่างทอง ได้แก่ ๑) ด้านนโยบาย ได้แก่ มีนโยบายในการพัฒนาบริหารจัดการการอบรมผู้บวชระยะสั้นแก่คณะสงฆ์ที่ชัดเจนและมีหลักการในการอบรมผู้บวชระยะสั้นโดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ๒) ด้านรูปแบบ มีการอบรมผู้บวชระยะสั้นเป็นไปตามแบบอย่างในการอบรมของคณะสงฆ์และมีรูปแบบการออกกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันของผู้บวชระยะสั้น ๓) ด้านการปฏิบัติงาน มีการดูแลผู้บวชระยะสั้นภายในวัดอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกันและเป็นธรรม ให้พระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถเป็นผู้อบรมแก่ผู้บวชระยะสั้นตามแต่โอกาส ๔) ด้านการประเมินผลการปฏิบัติงาน มีการประเมินผลการบริหารการอบรมผู้บวชระยะสั้นของคณะสงฆ์และเปิดโอกาสให้องค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบงานการอบรม จัดเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานประจำปีภายในการอบรมผู้บวชระยะสั้น
Download |