การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันของการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี (๒) ศึกษาแนวโน้มในเชิงอุดมคติของการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และ (๓) นำเสนอแนวทางการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มเชิงอุดมคติ ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน ๑๗ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการณ์ปัจจุบันของการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พบว่า (๑) ด้านสิ่งดึงดูดใจ ได้แก่ หนังใหญ่วัดขนอนซึ่งได้รับรางวัลจากยูเนสโก เป็นต้น (๒) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (๓) ด้านการเข้าถึง ได้แก่ มีป้ายบอกเส้นทางเดินรถ เป็นต้น (๔) ด้านการรักษาความปลอดภัย ได้แก่ มีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ เป็นต้น (๕) ด้านการตลาด ได้แก่ มีการกระตุ้นตลาดจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น และ (๖) ด้านนักท่องเที่ยว ได้แก่ ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจและความประทับใจของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
๒. แนวโน้มในเชิงอุดมคติของการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พบว่า ควรพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ควรมีการบริหารจัดการโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนเป็นสำคัญ ควรสนับสนุนงบประมาณให้เท่าเทียมกันทุกวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ควรวางแผนยุทธศาสตร์ตามหลัก PDCA ควรกำหนดปฏิทินกิจกรรมพระพุทธศาสนาอ้างอิงเทศกาลต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่เน้นของเรื่องราววัตถุมงคลแต่เน้นพุทธศิลป์ ไม่เก็บค่าเข้าชมจากคนไทย ควรแก้กฎหมายการอุดหนุนเงินบำรุงศาสนสถาน ควรจำแนกกลุ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวสำหรับการให้บริการที่ตรงกับความต้องการท่องเที่ยว ทุกวัดที่มีมรดกทางวัฒนธรรมควรขึ้นทะเบียนโบราณสถานโดยไม่กังวลเรื่องความอิสระในการบริหารจัดการ และควรร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนมอญในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของชาติมากกว่าการให้ความสำคัญกับรายได้จากการท่องเที่ยว
๓. แนวทางการพัฒนาวัดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มเชิงอุดมคติ พบว่า (๑) ด้านสิ่งดึงดูดใจ ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนมอญและเผยแพร่สู่สาธารณชน เป็นต้น (๒) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันจัดศูนย์บริการนักท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและมีผู้เชี่ยวชาญภาษาอยู่ประจำการ เป็นต้น (๓) ด้านการเข้าถึง ได้แก่ กรมทางหลวงติดตั้งป้ายบอกทางเพิ่มเติมในจุดเชื่อมต่อหรือบริเวณทางแยก เป็นต้น (๔) ด้านการรักษาความปลอดภัย ได้แก่ วัดดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเดิมให้ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ภายในวัด เป็นต้น (๕) ด้านการตลาด ได้แก่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันประชาสัมพันธ์ในช่องทางที่หลากหลาย เป็นต้น และ (๖) ด้านนักท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติโดยเสมอภาคกัน เป็นต้น
Download |