การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาสภาพการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (๒) ศึกษาเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุที่มีต่อการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจากพระภิกษุที่สังกัดวัดในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จำนวน ๒๓๑ รูป วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที ค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๗ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๒๑ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน
๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุที่มีต่อการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของพระภิกษุ ได้แก่ อายุ และพรรษา มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ แต่ปัจจัยส่วนบุคคลของพระภิกษุ ได้แก่ สถานะ วุฒิการศึกษาสามัญ และวุฒิการศึกษานักธรรม มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาวัดให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พบว่า ปัญหา อุปสรรค ได้แก่ พระภิกษุผู้บวชใหม่บางรูปไม่มีความรู้ทางธรรม บางวัดมีต้นไม้ยืนต้นน้อย บางวัดขาดเงินสนับสนุนการก่อสร้าง พระภิกษุบางรูปไม่ทำความสะอาดบริเวณวัด บางวัดก่อสร้างเสนาสนะไม่เป็นสัดส่วน บางวัดไม่รักษาความสะอาดของห้องน้ำห้องสุขา บางวัดปล่อยให้ชาวบ้านรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของวัด บางวัดปิดแสงไฟฟ้าบริเวณหน้าวัดในเวลากลางคืน บางวัดเน้นการจำหน่ายวัตถุมงคล และบางวัดทำงานเพียงลำพัง ส่วนข้อเสนอแนะ ได้แก่ พระสงฆ์ผู้บวชใหม่ควรพัฒนาตนเองให้มีความรู้ทางธรรม วัดควรเน้นการปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา วัดควรวางแผนการก่อสร้างโดยคำนึงถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ วัดควรกำหนดภาระรับผิดชอบในการรักษาความสะอาดแก่พระภิกษุในสังกัดอย่างชัดเจน วัดควรกำหนดแผนผังให้เป็นสัดส่วน วัดควรให้ความสำคัญกับความสะอาดของห้องสุขา วัดควรจัดทำรั้วถาวร วัดควรติดตั้งหลอดไฟให้แสงสว่างบริเวณหน้าวัด วัดควรเน้นการสร้างศรัทธาแก่ประชาชนด้วยการให้ธรรมะสำหรับการดำเนินชีวิต วัดควรส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนได้เรียนและสอบธรรมศึกษา และวัดควรร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยมุ่งประโยชน์ของชุมชน
Download |