การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี (๒) เปรียบเทียบภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตามความคิดเห็นของพระภิกษุ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลภาคสนามจากพระสงฆ์ในอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน ๒๗๑ รูป วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๗ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๐ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านจักขุมา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๕ ด้านวิธุโร มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๐ และด้านนิสสยสัมปันโน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๐๖
๒. ผลการเปรียบเทียบภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของพระสงฆ์ ได้แก่ อายุ พรรษา และวุฒิการศึกษานักธรรม มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ แต่ปัจจัยส่วนบุคคลของพระสงฆ์ ได้แก่ วุฒิการศึกษาสามัญ มีผลให้ความคิดเห็นที่มีต่อภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พบว่า (๑) ด้านจักขุมา ปัญหา อุปสรรค ได้แก่ การขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็น การขาดทักษะการจัดทำแผนงาน การขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรส่งเสริมให้พระสังฆาธิการเข้าศึกษาหลักสูตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.) ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การจัดอบรมพัฒนาทักษะการจัดทำแผนงานหรือการเขียนโครงการ และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้เกิดการจัดการความรู้ในลักษณะที่เป็นความรู้สาธารณะ (๒) ด้านวิธุโร ปัญหาอุปสรรค ได้แก่ การขาดเทคนิคใหม่ ๆ การขาดการฝึกฝน และข้อเสนอแนะ ได้แก่ การประยุกต์ศาสตร์สมัยใหม่มาใช้พัฒนาการทำงาน และถ่ายทอดเทคนิคหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาตามโอกาสสมควร และ (๓) ด้านนิสสยสัมปันโน ปัญหาอุปสรรค ได้แก่ การขาดการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงาน ขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารความขัดแย้ง และข้อเสนอแนะ ได้แก่ การสนับสนุนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และจัดอบรมพัฒนาทักษะการบริหารความขัดแย้งแก่พระสังฆาธิการทุกระดับ
Download |