หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทวิช ธีรชาโต (ศรีพรหม)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาการเมืองในคัมภีร์ทีฆนิกาย(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทวิช ธีรชาโต (ศรีพรหม) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ผศ.ดร. สุกิจ ชัยมุสิก
  อาจารย์เฉลียว รอดเขียว
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๑ ตุลาตม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาการเมืองในคัมภีร์ทีฆนิกาย" มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการกำเนิดรัฐ หน้าที่ของรัฐ ความเจริญและความเสื่อมของรัฐ รัฐในอุดมคติ รูปแบบการปกครอง ผู้ปกครอง เป้าหมายในการปกครองและอิทธิพลของปรัชญาการเมืองในคัมภีร์ทีฆนิกายที่มีผลต่อการเมืองไทย โดยผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาของการวิจัยออกเป็น ๕ บท ซึ่งในแต่ละบทจะอธิบายถึงจุดประสงค์ที่ต้องการศึกษา
ดังนี้
บทที่ ๑ ว่าด้วยความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย
บทที่ ๒ ว่าด้วยแนวความคิดทางการเมืองและการปกครอง
บทที่ ๓ ว่าด้วยแนวความคิดทางการเมืองและการปกครองในคัมภีร์ทีฆนิกาย
บทที่ ๔ ว่าด้วยการวิเคราะห์บูรณาการปรัชญาการเมืองในคัมภีร์ทีฆนิกายกับ
ทฤษฎีการเมือง
บทที่ ๕ ว่าด้วยสรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะจากการศึกษาพบว่า แนวความคิดทางการเมืองและการปกครองนั้นมุ่งที่จะสร้างระบอบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความเจริญรุ่งเรืองของรัฐความมั่นคงของรัฐ ความเป็นเอกราชของชาติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนภายในรัฐ อย่างไรก็ตาม การเมืองการปกครองทุกระบอบล้วนมีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยก็ตาม ทั้งนี้เพราะระบอบการเมืองนั้น ๆ มุ่งที่จะสร้างระบอบการเมืองที่ดี โดยยึดถือกฎระเบียบที่เคร่งครัดเป็นสำคัญแต่ยังขาดหลักการที่จะทำให้ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองนั้นเป็นคนดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ปกครองในระบอบนั้นๆ มักถูกโค่นล้ม เพราะเนื่องมาจากการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง มุ่งแต่ประโยชน์ตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งก็เป็นเพราะผู้ปกครองในระบอบนั้น ๆ ขาดคุณธรรมและจริยธรรมในการปกครองและไม่ยึดหลักธรรมาธิปไตยในการปกครองนั่นเอง ฉะนั้น ธรรมาภิบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกสังคมส่วนแนวความคิดทางการเมืองการปกครองตามทรรศนะของพระพุทธศาสนานั้น
มุ่งที่จะสร้างบุคคลให้เป็นผู้นำที่ดี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในสถานะใด ๆ ก็ตาม ทุกคนล้วนสามารถที่จะพัฒนาตนให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นไปได้ หากได้น้อมนำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในการปกครองตนเองและผู้อื่น แนวความคิดทางการเมืองของพระพุทธศาสนาจึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงขึ้นไป คือถึงความเป็นอริยะได้ในที่สุด และพร้อมกันนั้นยังต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจภายในรัฐควบคู่
กันไปด้วย ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐและการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของคนภายในรัฐจึงต้องทำควบคู่กันไปด้วยจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ดังนั้น หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา จึงสามารถที่จะนำไปใช้ได้กับการเมืองทุกระบอบอย่างไร้ปัญหา และย่อมมีคุณค่าต่อการนำมาใช้กล่อมเกลาท่าทีในการปฏิบัติต่อ
กันตามอุดมการณ์ทางการเมือง มีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนความปรองดองของคนภายในรัฐ ให้ยืนหยัดอยู่บนหลักการเหตุผลที่ถูกต้องร่วมกัน มีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนการปกครองทุกระบอบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อบุคคลยึดหลักธรรมในการปกครองแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบใด ๆ ก็ตาม ล้วนก่อให้เกิดผลดีแก่ระบอบนั้น ๆ อย่างแน่นอน เพราะการปกครองไม่ว่าจะเป็นระบอบใด ๆ ก็ตาม สามารถที่จะ
เป็นระบอบการเมืองการปกครองที่ดีได้ หากการปกครองในระบอบนั้น ๆ ได้นำหลักธรรมาธิปไตยไปใช้ร่วมกับการปกครอง ดังนั้น ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองจึงควรรู้จักฝึกตนให้เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม ยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต และปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎระเบียบกติกาของสังคม ส่วนในสังคมไทยนั้น มีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักถูกโค่นล้มอำนาจได้ง่าย เพราะ
การขาดคุณธรรมและจริยธรรมในการปกครองนั่นเอง หากผู้ปกครองของไทยและผู้ใต้ปกครองยึดหลักธรรมาธิปไตยในการปกครองแล้ว ประเทศชาติก็จะมีแต่ความสงบสุข มีความมั่นคงและมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้
Download :  255114.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕