สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิโมกข์ ๓ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิโมกข์ ๓ ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำมารวบรวม สรุปวิเคราะห์ เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา และตรวจสอบความถูกต้องโดยอาจารย์ที่ปรึกษา จากการวิจัยพบว่า วิโมกข์ หมายถึง สภาพที่จิตพ้นจากกิเลสอาสวะ ที่ยืนยันความเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นผลของการเจริญวิปัสสนาภาวนา วิโมกข์มี ๓ ประเภท คือ สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยการพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนัตตา อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยการพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยการพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกขัง และวิโมกข์ ๓ มีความสำคัญต่อการปฏิบัติธรรมเพราะเป็นเหตุให้เกิดมรรคจิตและเข้าถึงพระนิพพานด้วยอาการ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งส่วนสภาวะของวิโมกข์ทั้ง ๓ มี ๔ อาการ คือ ๑) ด้วยสภาวะเป็นใหญ่ ๒) ด้วยสภาวะตั้งมั่น ๓)ด้วยสภาวะน้อมจิตไป ๔) ด้วยสภาวะนำออกไป วิโมกข์ถูกจำแนกออกเป็น ๓ ประการด้วยอำนาจของอินทรีย์ ๓ ได้แก่ ๑) สัทธินทรีย์ ๒) สมาธินทรีย์ ๓) ปัญญินทรีย์
Download