สารนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาสัทธาวิมุตติในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเป็นเชิงพรรณาเสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พบว่า
ผู้หลุดพ้นด้วยสัทธา ได้แก่ผู้ที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วเห็นธรรมที่พระตถาคตประกาศโดยแจ้งชัดประพฤติปฏิบัติถูกต้องดีและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นอริยสัจด้วยปัญญาแต่มีสัทธาเป็นตัวนำ หมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไปจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตตผลที่มีสัทธินทรีย์แรงกล้า ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไปเพราะเห็น อริยสัจด้วยปัญญา
การบรรลุธรรมแบบสัทธาวิมุตติ มีหลักการพัฒนาประกอบด้วยความเพียร มีสติสัมปชัญญะเพียรระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันอารมณ์ของรูปนามอยู่เสมอ ๆ ยังอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้แก่กล้า โดยเริ่มต้นจากการมีศรัทธา เมื่อมีศรัทธาทำให้เกิดความเพียร เมื่อมีความเพียรช่วยให้สติมั่นคง เมื่อสติมั่นคงแล้วกำหนดอารมณ์ได้อย่างจดจ่อต่อเนื่อง ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิดีแล้วจะเกิดปัญญา คือมีความรู้เห็นถึงความจริงอันประเสริฐ ถือได้ว่าเมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ ได้พัฒนาสมบูรณ์พร้อม ก็บรรลุมรรค ผล พระนิพพานเป็นที่สุดได้ วิธีการพัฒนาอินทรีย์เพื่อสู่วิมุตติ เริ่มต้นที่ศรัทธา การจะมีศรัทธาได้นั้นเกิดจากการคบสัตบุรุษ แล้วได้ฟังสัทธรรม ทำให้เกิดศรัทธา เมื่อมีศรัทธา ก็มีมนสิการโดยแยบคาย มีสติสัมปชัญญะ มีความสำรวมอินทรีย์ มีสุจริต ๓ มีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้บริบูรณ์ ทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ ทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้
Download |