หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประทีป อภิวฑฺฒโน (แถวพันธุ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๑ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบการอธิบายปฏิจจสมุปบาทตามแนวของพุทธโฆษาจารย์กับพุทธทาสภิกขุ(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประทีป อภิวฑฺฒโน (แถวพันธุ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีวรญาณ
  พระศรีสิทธิมุนี
  ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

      วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการอธิบายปฏิจจสมุปบาทในพระไตรปิฎกและเปรียบเทียบการอธิบายปฏิจจสมุปบาทของพุทธโฆษาจารย์กับพุทธทาสภิกขุจากการศึกษาได้พบว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมสายกลาง ไม่เอียงสุดไปทางสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ มีความสัมพันธ์กับหลักธรรม
สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ ไตรลักษณ์ เป็นต้น พระพุทธโฆษาจารย์ได้อธิบายปฏิจจสมุปบาทว่าเกิดครบหนึ่งรอบได้ต้องใช้เวลา ๓ ชาติ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต การอธิบายเน้นการเกิดทางด้านร่างกายมากกว่าการเกิดทางด้านจิตใจ พุทธทาสภิกขุ ปฏิเสธการอธิบายปฏิจจสมุปบาททางด้านร่างกาย เช่น การเกิดคือการคลอดออกมาจากท้องมารดา ได้อธิบายอีกนัยหนึ่งว่า ปฏิจจสมุปบาทคือการเกิดสภาวะทางด้านจิตใจ เกิดครบรอบในเวลาอันเร็วในขณะที่มีชีวิตอยู่ ในแต่ละวันปฏิจจสมุปบาทสามารถเกิดครบรอบได้หลายรอบ จากการเปรียบเทียบการอธิบายของพระพุทธโฆษาจารย์กับพุทธทาสภิกขุ ท่านทั้งสองยังคงอ้างพุทธพจน์ในการอธิบายเป็นหลักส่วนข้อแตกต่างนั้นขึ้นอยู่กับแนวความคิด มุมมอง ความเข้าใจ การตีความ และจับประเด็นของแต่ละท่าน การอธิบายทั้งสองถึงจะมีข้อแตกต่างกันและมีจุดเด่นคนละแบบ แต่หลักใหญ่ไม่ขัดกันแต่กลับสนับสนุนการอธิบายซึ่งกันและกัน การอธิบายของพุทธโฆษาจารย์มีจุดเด่นคือส่งเสริมให้คนเล็งเห็นผลกรรมในชาติหน้า ส่วนการอธิบายของพุทธทาสภิกขุมีจุดเด่นคือส่งเสริมให้คนสนใจผลกรรมในชาติปัจจุบันมากกว่าที่จะสนใจในชาติหน้า ฉะนั้นคำอธิบายทั้งสองท่านจึงมุ่งในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ โดยหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้วผลกรรมมีได้ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
เมื่อศึกษาอย่างละเอียดแล้วคำอธิบายของท่านทั้งสองสนับสนุนกันและกันให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Download :  255113.pdf
 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕